FULL MOON MAGIC: ‘ปานพรรณ ยอดมณี’ ศิลปินไทยระดับโลก ผู้มีพระจันทร์บันดาลใจ

ปานพรรณ ยอดมณี ชื่อนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูชาวไทยสักเท่าไรนัก แต่ไม่ใช่ในเวทีโลก ปานพรรณเป็นศิลปินไทยดาวรุ่งระดับสากล ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะไทย แบบผสมผสานกับงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งยังได้จัดแสดงผลงานที่ประเทศสิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฯลฯ มาแล้ว หลายคนมองว่าเธอเดินทางในสายศิลปินอย่างก้าวกระโดด อายุยังไม่ถึง 30 ปี ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ 11 th Benesse Prize ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Singapore Biennial 2016 รางวัลสำคัญระดับเอเชีย ซึ่งเธอเป็นคนที่สองของประเทศไทยและสองปีต่อมา ในปี 2018 ปานพรรณก็ได้เป็นหนึ่งในศิลปิน ที่ได้จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยครั้งสำคัญของประเทศไทย เป็นเทศกาลที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ให้กับวงการศิลปะร่วมสมัยของเอเชียและโลก กับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่’  (Bangkok Art Biennale หรือ BAB) ครั้งแรกที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะมากกว่า 200 ชิ้น โดยฝีมือของ 75 ศิลปินดังระดับโลกจากนานาประเทศ ป๊อบอัพอยู่ตามจุดพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องมีปานพรรณด้วย เธอได้สร้างสรรค์งาน ชุด ‘Sediments of Migration’ ศิลปะจัดวางที่ออกแบบมาเฉพาะพื้นที่ ให้ออกมากลมกลืนแนบเนียนเข้ากับรูปปั้นฤาษีดัดตน และต้นสมุนไพร ณ เขามอ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

‘In the Aftermath’, The 9Tth Asia Pacific Triennial of Contemporary Art (APT9) ประเทศออสเตรเลีย

จริงๆ แล้ว ปานพรรณสะสมไมล์ความเป็นศิลปินมาตั้งแต่วัยเยาว์ ใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นศิลปินตั้งแต่ 10 ขวบ เรียนรู้ดูงานศิลปะจากวัดข้างบ้าน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมฝึกปรือฝีมือจากการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง เขียนภาพในถ้ำ แม้จะมีช่วงหนึ่งที่เธอถอยห่างจากความฝัน ด้วยรู้สึกว่าการเป็นศิลปินนั้น อาจจะไกลและเกินที่เธอจะเอื้อมถึง แต่สุดท้ายปานพรรณก็ต้องทิ้งทุกอย่างที่ไม่ใช้งานศิลปะ เพื่อทุ่มเทให้ความฝันจริงๆ ของตัวเอง จนกลายเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ทั่วโลกจับตามอง

‘SangSom MOONISM Limited Edition’ เป็นผลงานชุดล่าสุด และเป็นผลงานชิ้นแรกของปานพรรณ ที่ไม่ได้ตั้งวางอยู่ในมิวเซียม แกลลอรี่ หรือเทศกาลงานศิลปะ นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ได้ออกแบบลวดลายบนฉลากสินค้า โดยได้ collaboration ร่วมกับ SangSom ด้วยทาง SangSom ได้เคยร่วมสนันสนุน Bangkok Art Biennale ตั้งแต่ปีแรกที่ปานพรรณเป็นหนึ่งในศิลปินที่มาร่วมแสดงผลงาน ประกอบกับด้วยเล็งเห็นถึงความสามารถและศักยภาพของศิลปินไทย ว่ามีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลก จึงชักชวนปานพรรณมาร่วมแปลงโฉมขวดสุดคลาสสิค ให้กลายเป็นงานอาร์ตสุดลิมิเต็ด ชวนเก็บสะสม

ตามไปฟังเบื้องหลังการออกแบบสุดท้าทาย ภายใต้ความหลงใหล สู่ลวดลายที่อยู่ในแต่ละพระจันทร์ นั้นมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจร่วมสร้างสรรค์ผลงานในแคมเปญ ‘SangSom MOONISM Limited Edition’

ด้วยเป็นแสงโสมมีความเป็นดวงจันทร์ แล้วงานเราตรงกัน ประกอบกับรู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทาย และเป็นงานที่อุ้มไม่เคยทำมาก่อน อย่างงานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ที่อุ้มทำอยู่ มันค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมากๆ คนไทยส่วนใหญ่อาจจะแทบไม่รู้จักอุ้มเลยด้วยซ้ำ พอต้องมาทำงานเกี่ยวกับโปรดักต์ดีไซน์ เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้คนทุกคนที่ได้เห็น สามารถเข้าถึงงานศิลปะของเราได้ ถือเป็นโจทย์ค่อนข้างยากพอสมควร

คอนเซ็ปต์หรือโจทย์ที่ได้รับจากทาง SangSom เพื่อนำมาตีความต่อ

งานศิลปะของอุ้มก่อนหน้านี้ ที่สื่อสารแนวความคิดเกี่ยวกับจักวาลวิทยา (Cosmology) จะใช้พวกปรากฎการณ์ต่างๆ ในระบบจักวาลวิทยามาเป็นแรงบันดาลใจ พอหลังจากที่ได้พูดคุยกันถึงคอนเซ็ปต์เบื้องต้นกับทางลูกค้า ว่าเกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ จักรวาลวิทยา และอยากให้สื่อสารออกมาเป็น 4 ปรากฏการณ์ที่แตกต่างกัน อุ้มจึงหยิบเอาสัญลักษณ์วงกลมมาใช้เป็นตัวสื่อสาร พอมาอยู่บนขวดแบนก็เข้ากันพอดี ‘MOONISM’ เป็นงานที่อุ้มต่อยอดจากซีรีส์ Time และ Timelapse สำหรับ Time เป็นงานแสดงเดี่ยวชุดแรกของอุ้มเมื่อ 5 ปีก่อน จัดแสดงในงาน Art Stage Singapore 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วน Timelapse จัดแสดงที่ Tang Contemorary Art ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2018

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่องราวที่เกี่ยวกับจักรวาลวิทยา

อุ้มสนใจเรื่องการบันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งจิตรกรรมฝาผนังไทย และฝาผนังถ้ำ ผลงานชุดแรกจะพูดเรื่องเรื่องคำทำนาย เกี่ยวกับคำทำนายโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างชาวมายันที่มีการทำนายต่างๆ เขาก็จะมีการถอดรหัสบางอย่างที่น่าสนใจ แล้วจะมีสัญลักษณ์วงกลมอยู่ในนั้นตลอด เราก็ถอดออกมาเป็นจักรวาลวิทยา อุ้มศึกษาหมดเลยนะ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู หรือเรื่องความเชื่อที่มีมาก่อนที่จะเกิดศาสนา ที่อยู่ตามภาพเขียนในถ้ำ รวมๆ แล้วน่าจะ 8 ปีได้

หรือแม้แต่ในส่วนของไตรภูมิพระร่วง ซึ่งอยู่ในพุทธวิทยา (budhahology) อุ้มได้หยิบเอามาใช้ตั้งแต่สมัยเรียน อุ้มรู้สึกว่าเรื่องราวมันมีเสน่ห์ อย่างวัด การจัดแผนผังต่างๆ ในวัดก็ใช้ไตรภูมิ และจักรวาลดวงดาวเป็นตัวจัดองค์ประกอบ ซึ่งมันก็มีรหัสบางอย่างซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าในอดีตเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เลยหยิบเอาอดีต ปัจจุบันและจินตนาการของตัวเองในอนาคตมาทำเป็นงานขึ้นมา

เมื่อต้องตีความ MOONISM ให้เป็นภาพ มีการคิด ค้น คลี่คลายอย่างไร

ทำรีเสิร์ชตัวเรื่องราวคอนเซ็ปต์แนวความคิดว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องและเข้ากับผลงาน ด้วยเราเรียนศิลปะมา เราก็ไม่รู้ว่าปรากฏการณ์ที่มันเกี่ยวกับดวงจันทร์มีอะไรบ้าง จนมาเจอว่ามีน้ำขึ้นน้ำลง จันทรุปราคา ไปไล่อ่านดูว่าแต่ละปรากฏการณ์เกิดขึ้นได้ยังไงมาดูว่ามันเข้ากับเทคนิคไหนของเราบ้าง แล้วโยงเข้ากับเทคนิคให้ได้ งานทั้ง 4 ชิ้นจะมีเทคนิคที่ต่างกันไป ทั้งหิน แร่ธาตุ และอีกหลายๆ อย่างที่อุ้มเอามาทุบและใส่ในงานให้เกิดเป็นเม็ดสีที่เกี่ยวข้องกับแนวความคิดในแต่ละปรากฏการณ์ ของจริงมีขนาด 30 ซม. เป็นงานที่เล็กที่สุดที่เคยจัดแสดงมาก็ว่าได้

ผลงานนี้ได้ผสมผสานลายเซ็นต์ของตัวเองไว้มากน้อยแค่ไหน

อันนี้ก็ยากเหมือนกัน ถ้าเราเป็นตัวเองเยอะๆ พูดถึงเรื่องไตรภูมิที่ลึกมากๆ คนทั่วไปก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือถ้าเราใส่ลายไทยเข้าไปเยอะๆ มันก็จะดูไม่เป็นสากล อุ้มจึงเลือกใช้เทคนิคเป็นตัวพูด หรือทำให้เกิดความชัดเจน อย่างการใช้แร่หินจากธรรมชาติ เพื่อให้เทคนิคกับวัสดุเป็นพระเอกของงาน ส่วนการแกะหรือถอดรหัสวัสดุกับเทคนิคในงาน ตรงนี้ล่ะที่เป็นตัวอุ้ม เราจะต้องชูออกมาว่าตรงกับแต่ละปรากฏการณ์ยังไง โดยที่ยังสื่อถึงงานก่อนๆ ที่เราทำได้ด้วย ถ้าดูแค่ภาพทุกคนอาจจะไม่รู้ว่า แต่ละเทคนิคที่ใช้จะสอดคล้องกับปรากฏการณ์ทั้ง 4 ด้วย

MOONISM – ปรากฏการณ์ที่ใช้สีน้อยที่สุด แต่สุดมีพลัง

MOONISM จะพูดถึงพลังแห่งปรากฏการณ์แสงจากดวงจันทร์ ที่สะท้อนลงบนน้ำ มีสีดำกับสีทองตัดกันเป็นแสงและเงาอย่างชัดเจน พอมาอยู่บนพื้นขวดที่เป็นสีขาวก็ยิ่งขับขึ้นมา คงกลิ่นอายความเป็นไทยด้วยการแทนค่าด้วยสีทอง ซึ่งมาจากสีของแผ่นเฟรมวงกลมซึ่งทำจากแผ่นทองแดง ด้วยอุ้มอยากได้วัสดุที่มีเนื้อของทองอยู่ แล้วก็เป็นวัสดุที่ทำมาจากแร่ธาตุซึ่งเกี่ยวกับธรรมชาติด้วย ปรากฏการณ์ MOONISM ใช้เทคนิคการลอยในน้ำ และใช้น้ำเป็นวัสดุหนึ่งที่ทำให้เกิดงานขึ้นมา เพราะเวลาที่น้ำกับน้ำมันมารวมกัน จะเกิดอิสระของการแตกตัวที่ไม่เข้ากัน มีการดึงแยกออกจากกัน เหมือนแสงสว่างกับความมืดที่ตัดกันอย่างชัดเจน ชิ้นนี้อุ้มใช้สีน้ำมันสีดำแค่สีเดียว

BLUEMOON – ปรากฏการณ์ที่ยากที่สุด

BLUEMOON เป็นพลังแห่งปรากฎการณ์แสงจากน้ำขึ้นน้ำลง แสงที่ตกกระทบบนพื้นผิวน้ำสีน้ำเงิน พลังที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก และใช้เทคนิคการไหลของสี อุ้มจินตนาการถึงแสงที่มันกระเพื่อมบนผิวน้ำ ก็เลยใช้สีขาวกับสีน้ำเงิน ซึ่งใช้สี Navy Blue พร้อมทั้งใช้น้ำเป็นส่วนประกอบในการทำงานชิ้นนี้ด้วย เวลาคว่ำลงไปก็จะเกิดเป็นการไหล ลวดลายที่เกิดก็เป็นลายอิสระของน้ำ เวลาที่น้ำหมุนไปทางไหน สีก็จะไปทางนั้น

ความยากคือเราไม่รู้ว่ามันจะไหลไปยังไง เพราะปกติเราจะได้แค่สีเดียว ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน สีน้ำเงินไหลไปกับสีขาว เกิดเป็นฟ้าอ่อนหลายเฉด มีความโปร่งแสงที่จะสามารถมองเห็นเพลทได้ด้วย เป็นเทคนิคที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน ถือเป็นการพัฒนาขึ้นมาอีกสเต็ปหนึ่ง

REDMOON – ปรากฏการณ์ที่มันส์ที่สุด

REDMOON เป็นพลังแห่งปรากฎการณ์จันทรุปราคา อุ้มเลยใช้สีแดงกับทอง ให้ความรู้สึกเป็นพลังบวก และใช้เทคการไหลของสี แล้วพอลองจินตนาการถึง REDMOON ในแบบของเรา ก็เลยหยิบเอาเพลททองแดงมาใช้ ใช้ผงทอง และสีอีพ็อกซี่ สีดำ สีแดง สีทอง มาคนรวมกัน แต่ไม่เข้ากัน มีการเอียงเพลทเพื่อให้เกิดการไหลไปทั่ววงกลมอย่างอิสระ อุ้มก็จะทำตามอารมณ์ ณ ตอนนั้นเลย งานแอบสแตก (abstract) เราไม่สามารถควบคุมตัวเองขณะทำงานได้ มันเหมือนเป็นอุบัติเหตุที่ศิลปินเองก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน

SUPERMOON – ปรากฏการณ์ที่ใช้เวลาทำนานที่สุด

SUPERMOON พลังแห่งการกำเนิด ปรากฎการณ์แห่งการเกิดดับ วงจรแห่งธรรมชาติ ใช้เทคนิคหิน แร่สีต่างๆมาใช้ในตัวผลงาน อุ้มจินตนาการไปถึงตั้งแต่การเกิดกาแล็กซี่ แล้วดวงจันทร์เป็นแค่ส่วนนิดเดียวในนั้น การสร้างดวงจันทร์ขึ้นมาหนึ่งดวง จะมีความระยิบระยับ มีการก่อตัว มีการสลายไปพร้อมๆ กัน จึงได้หยิบเทคนิคหินแร่สีต่างๆ ไม่ว่าจะสีขาว สีแดง สีดำ มาใส่ลงไป ซึ่งหินที่ใช้ก็มาจากเวลาที่อุ้มเดินทางไปไหนจะชอบเก็บหินมา อย่างบ้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็จะมีอแร่ธาตุต่างๆ อย่างเช่น แร่วุลแฟรม หินสีดำก็จะเป็นหินลับมีด ซึ่งมีคราบสนิมเกาะติดอยู่ หินกรวดสีแดงอิฐ อุ้มจะนำมาโรยบนชิ้นงานให้เกิดเป็นเท็กเจอร์ (texture) บนสีวิทยาศาสตร์อีกที จะเลือกใช้สีโทนเย็นอย่าง สีเขียว สีม่วง แล้วใช้กากเพชรโรยลงไป ให้เกิดความคอนทราสต์กับสีของหินมากๆ ชิ้นนี้ใช้เวลาทำถึง 2 วัน เพราะต้องทำหลายชั้น

ความรู้สึกเมื่อได้เห็นผลงานของตัวเอง ไม่ได้วางตั้งอยู่ในหอศิลป์หรือแกลอรี่เหมือนเคย

ดีใจที่แคมเปญนี้ทำให้งานศิลปะเข้าถึงคนทั่วไปได้ ให้งานศิลปะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของทุกคนทุกส่วนได้ เหมือนเป็นแกลลอรี่ ที่พิมพ์งานศิลปะออกมาจำนวนมาก ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและเห็นงานศิลปะไปด้วย เปรียบขวดแก้วเป็นเหมือนผืนผ้าใบที่ศิลปินใช้วาดรูป เป็นของสะสมอีกแบบหนึ่ง ที่สามารถมีไว้ครองไว้ไม่ยาก อยากให้ปีหน้าก็มีงานของศิลปินอีกคน แล้วเกิดการสะสมไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังทำให้ตัวศิลปินเองมีพื้นที่ในการเผยแพร่มากขึ้นด้วย ไม่ได้เผยแพร่แค่ในแกลลอรี่หรือมิวเซียมเหมือนเคย

4 ปรากฏการณ์สำคัญในชีวิตของคุณ

ทั้ง 4 เป็นผลงานชิ้นสำคัญในชีวิต โดย 3 ชิ้นแรกจะเป็นงานที่ได้ไปติดตั้งถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑ์
เริ่มจาก ‘Quarterly Myth 2019’ ผลงานชุดนี้จัดแสดงในเทศกาล 15th Lyon Biennale 2019 ประเทศฝรั่งเศส จัดแสดง 4 เดือน แล้วย้ายไปอยู่ใน Lyon Museum อุ้มไม่เคยทำวัสดุชิ้นที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน มันเป็นอุโมงค์ท่อน้ำจริงๆ ที่เขาทิ้งเป็นขยะ เอามารีไซเคิลให้เป็นงานศิลปะ

‘In the Aftermath’ จัดแสดงในเทศกาลศิลปะ The 9Tth Asia Pacific Triennial of Contemporary Art (APT9) ที่ QAGOMA (Queenland Art Gallery and Gallery of Modern Art) รัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย สำหรับ In the Aftermath จะพูดถึงการล่มสลาย การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะเกิดศาสนาแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงหลายๆ อย่างที่ผสมรวมกันจนเป็นเอเชียแปซิฟิก

‘Aftermath’ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 11 th Benesse Prize ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Singapore Biennale 2016 ผลงานจะได้ไปติดตั้งถาวรที่เกาะนาโอชิมะ เกาะศิลปะของประเทศญี่ปุ่น ด้วยเกาะนี้เป็นเกาะศิลปะที่ศิลปินทุกคนใฝ่ฝัน แล้ววันหนึ่งเราผลงานของเราก็ได้ไปตั้งอยู่ตรงนั้นด้วย  สำหรับชิ้นงานของอุ้มตั้งอยู่ในโรงเรียนเก่าที่เขารีโนเวทให้เป็นมิวเซียม

อีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่สำคัญในชีวิต ก็คือ ‘MOONISM’ งานที่ทำออกมาครั้งแรก แล้วรู้สึกว่าผลงานของอุ้มก็สามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป ญาติพี่น้องที่เขาไม่ได้เรียนจบด้านศิลปะมา พอเขาเห็นงานของอุ้ม เขาก็ตื่นเต้น และเข้าถึงได้มากขึ้น บอกว่าจะต้องไปหามาเก็บสะสมไว้ จากที่เขาเคยบอกว่างดูไม่รู้เรื่อง คืออะไร มันลึกมาก พอมาอยู่บนขวดเขาก็ไปหาซื้อมาเก็บไว้ นี่ก็เลยเป็นอีกปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของชีวิตอุ้ม ดีใจมากๆ

อะไรที่ทำให้คุณมาไกลจนถึงทุกวันนี้

อุ้มไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และชอบเสี่ยง แต่พอเราทำอะไรที่เสี่ยง แน่นอนว่าก็ต้องเจอะปัญหา หรือชิ้นงานที่ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ทุกชิ้นที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จ อย่างผลงาน MOONISM ชุดนี้ อุ้มทำไปกว่า 20 ชิ้น มันมีทั้งที่ผิดพลาด หรือไม่สวย อุ้มก็แค่ลุกขึ้นมาทำใหม่ ซึ่งความผิดพลาดและปัญหาต่างๆ ที่ได้เจอ มันทำให้รู้ว่าเราจะทำให้สำเร็จได้ยังไง อุ้มเป็นคนที่ไม่กลัวปัญหา ไม่กลัวอุปสรรค ก็มองว่าชีวิตเราก็คงเป็นงานแอปสแตก ที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

Magazine made for you.