‘อิซาเบลลา เบิร์ด’ ช่างภาพนักเดินทางหญิงยุควิกตอเรียน ผู้เปิดโลกตะวันออกสู่สายตาตะวันตก

ผู้หญิงวันนี้ลุยเดี่ยวเที่ยวเองรอบโลกกันเป็นปกติวิสัย สำหรับเอเชีย การ travel solo ของผู้หญิงอาจถือเป็นกระแสใหม่ แต่ในประเทศตะวันตก ผู้หญิงส่วนใหญ่มีอิสระเสรีพอที่จะเดินทางไกลคนเดียวมานานแล้ว จนคงไม่มีใครจะเอะใจว่าผู้หญิงเที่ยวคนเดียวมันพิเศษตรงไหน แต่ใช่ว่าเส้นทางของผู้หญิงเที่ยวเองจะราบรื่นมาตั้งแต่ต้น

ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1801-1900) เป็นยุคแห่งการเปิดโลก ชาวอเมริกันขยายถิ่นฐานสู่ทิศตะวันตก คาวบอยควงปืนขี่ม้าข้ามแดนเถื่อนไปขุดทองถึงขอบทวีป ส่วนชาวยุโรปก็ขยายอาณานิคมสู่ทิศตะวันออก แข่งกันแล่นเรือไปปักธงสำรวจดินแดนที่ไม่เคยรู้จัก ‘ผู้หญิงเที่ยวเอง’ รุ่นบุกเบิกก็เริ่มออกท่องโลกในยุคนี้เช่นกัน เพียงแต่ตอนนั้นพวกเธอมีกันเพียงหยิบมือเดียว เพราะชีวิตสตรีนักเดินทางชาวตะวันตกยุคนั้นไม่ง่ายดายเหมือนสมัยนี้ มีกำแพงหลายชั้นที่พวกเธอต้องฝ่า กว่าที่จะได้เดินทางตามฝันสำเร็จ เช่น

กำแพงจารีต เพราะ ‘สุภาพสตรี’ ยุคนั้นยังถูกคาดหวังให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน จะไปไหนทีก็ควรต้องมีสามีหรือ ‘สุภาพบุรุษ’ ร่วมเดินทางไปด้วย จะขี่ม้าหรือปีนเขาก็ยังต้องสวมกระโปรงยาวถึงพื้น รวมถึงห้ามนุ่งกางเกง

กำแพงความรู้ หลายพื้นที่บนโลกในขณะนั้นยังไม่มีแม้แต่แผนที่ ข้อมูลพื้นฐานของดินแดนต่าง ๆ ก็มีอยู่น้อยมาก เพราะหลายแห่งยังไม่เคยมีใครไปถึง ที่สำคัญสตรียังไม่ได้รับสิทธิในการศึกษาเท่าเทียมบุรุษ มหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างเคมบริดจ์รับแต่นักศึกษาชาย ในขณะที่สตรีได้เพียงเรียนหนังสือที่บ้าน

กำแพงความเจริญ ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคที่รถจักรไอน้ำ เรือกลไฟ กล้องถ่ายภาพ โทรเลข โทรศัพท์เพิ่งถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ทุกอย่างยังใหม่มากและยังไม่ทั่วถึง ระบบรางรถไฟยังไปได้แค่บางที่ ไฟฟ้าเพิ่งเริ่มมี ที่สำคัญคือโลกตอนนั้นยังไม่มีเครื่องบิน การเดินทางข้ามทวีปแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือร่วมปี

และสำหรับบางคนก็ยังมี กำแพงสุขภาพ เพราะการแพทย์เมื่อร้อยกว่าปีก่อนยังไม่พัฒนาเท่าสมัยนี้ หลายโรคยังไม่มีวิธีรักษา ทำให้เป็นอุปสรรคใหญ่ในการเดินทางสำหรับบางคน 

แต่ไม่ใช่สำหรับ อิซาเบลลา เบิร์ด สตรียุควิกตอเรียนผู้ที่เจอมาครบทุกกำแพง โดยเฉพาะกำแพงสุขภาพ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ออกเดินทางตามความฝัน บุกเบิกเส้นทางที่แม้แต่บุรุษยังไปไม่ถึง และได้กลายมาเป็นนักสำรวจหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกรับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (Royal Geographical Society) รวมถึงเป็นช่างภาพนักเดินทางหญิงคนแรก ๆ ในยุคที่กล้องถ่ายภาพเพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ๆ อีกด้วย

อิซาเบลลา ลูซี่ เบิร์ด (Isabella Lucy Bird) คือนักสำรวจ นักเขียน และช่างภาพหญิงชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของยุควิกตอเรียน (ค.ศ. 1837-1901) เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 1831 ที่มณฑลยอร์กเชอร์ ประเทศอังกฤษ

ในวัยเด็ก อิซาเบลลา เบิร์ด เป็นเด็กที่ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับกระดูกสันหลังเรื้อรัง แพทย์จึงแนะนำให้พยายามอยู่ในที่โล่งที่มีอากาศบริสุทธิ์ ครอบครัวของเธอจึงย้ายที่อยู่หลายแห่ง และฝึกให้เธอได้เรียนขี่ม้า เรียนพายเรือ นอกจากนี้ เบิร์ดเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือ สนใจเรื่องราวต่าง ๆ ในโลก และเริ่มเขียนบทความตั้งแต่อายุ 16

เธอได้รับการผ่าตัดในปี 1850 และเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้น แพทย์จึงแนะนำให้เธอเดินทางท่องเที่ยว ชีวิตนักเดินทางของเธอจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1854 เมื่อเบิร์ดข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกกับญาติของเธอ พร้อมกับเงิน 100 ปอนด์ที่บิดาของเธอมอบให้ไปใช้ท่องเที่ยวได้ตามใจ (ค่าเงิน 100 ปอนด์ในยุควิกตอเรียน เทียบโดยประมาณเท่ากับ 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 4 แสนกว่าบาทในปัจจุบัน ซึ่งเบิร์ดใช้เที่ยวอเมริกานานถึง 7 เดือน)

ก้าวแรกของเส้นทางนักเขียนบนหลังม้า

ถ้ายุคนั้นมีอินเตอร์เน็ต อิซาเบลลา เบิร์ด ก็น่าจะเป็นหนึ่งใน ‘บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวหญิง’ คนแรก ๆ ของโลก ที่นำเรื่องราวจากต่างแดนมา ‘แชร์’ สู่กันอ่าน

อิซาเบลลา เบิร์ด ในวัย 23 ปี ท่องไปตามเมืองใหญ่ในอเมริกา อย่าง ชิคาโก บอสตัน และนิวยอร์ก รวมถึงเมืองออนตาริโอ และ โนวาสโกเชียในแคนาดา แล้วเริ่มเขียนจดหมายเล่าประสบการณ์เดินทางถึงญาติที่อังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รวบรวมงานเขียนของเธอตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มแรกชื่อ An Englishwoman in America ตีพิมพ์ในปี 1856

เธอออกเดินทางอีกครั้งในปี 1872 สู่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮาวายโดยลงเรือที่ซานฟรานซิสโก เมื่อเดินทางถึงฮาวาย เธอเปลี่ยนใจอยู่ที่เกาะนี้ต่อนานถึงหกเดือน จนได้เป็นผลงานบันทึกการเดินทางเล่มถัดมา Six Months in the Sandwich ตีพิมพ์ในปี 1875 (เดิมชาวยุโรปเรียกเกาะฮาวายว่าเกาะแซนด์วิช)

การขี่ม้าของสตรีในยุควิคตอเรียนในศตวรรษที่ 19 นั้น จะเป็นการขี่ม้าโดยการนั่งหันข้างบนหลังม้า แต่เมื่อเบิร์ดมาฮาวาย เธอได้เรียนรู้ที่จะ ขี่ม้าแบบนั่งคร่อมอานเฉกเช่นบุรุษ เธอขี่ม้าไปตามที่ต่าง ๆ ปีนเขาไปถึงยอด Mauna Kea และ Mauna Loa ภูเขาไฟความสูงกว่า 4,000 เมตรด้วยตนเอง

เมื่ออิซาเบลลา เบิร์ดกลับมาฝั่งอเมริกา เธอเริ่มขี่ม้าท่องเที่ยวคนเดียวไปยังทะเลสาบทาโฮ (Lake Tahoe) และเทือกเขาร็อกกี (The Rocky Mountains) เธอเล่าเรื่องการผจญภัยครั้งนี้ของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการขี่ม้าฝ่าพายุหิมะ การต้องพักร่วมเคบินกับผู้ชาย หรือการตกหลุมรักชายนอกกฏหมายเจ้าเสน่ห์ ที่เธอให้คำจำกัดความในหนังสือของเธอว่า “บุรุษผู้ซึ่งสตรีทุกนางต้องหลงใหล แต่ไม่มีหญิงสติดีคนไหนจะแต่งงานด้วย” เอาไว้ในหนังสือเรื่อง A Lady’s Life in the Rocky Mountains ตีพิมพ์ในปี 1879

มุ่งหน้าสุดขอบตะวันออกไกล สู่แดนเถื่อนฮอกไกโด

เมื่อเที่ยวอเมริกาและแคนาดาทางฝั่งตะวันตกจนทั่วแล้ว อิซาเบลลา เบิร์ดก็เริ่มปักหมุดมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก

ในปี 1878 เบิร์ดเดินทางสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก แดนอาทิตย์อุทัยในเวลานั้นเพิ่งผ่านยุคปฏิวัติเมจิและเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน เบิร์ดบรรยายในจดหมายถึงน้องสาวเล่าบรรยากาศของนครโตเกียว และโยโกฮาม่าเมืองท่าหลักในขณะนั้น ว่าบ้านเรือนทรุดโทรม ผู้คนดูยากจน ทว่าร่ำรวยด้วยน้ำใจไมตรี แต่ไม่มีชาวยุโรปให้เห็นตามถนนที่จะพอช่วยเหลือกันได้เลย

แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเบิร์ดเองก็อยากเดินทางออกนอกเส้นทางปกติ ไปสู่ที่ที่ชาวยุโรปคนอื่น ๆ ยังไม่เคยได้รู้จักอยู่แล้ว เธอจึงว่าจ้างชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นให้เดินทางไปด้วยเพื่อเป็นล่าม แล้วเดินทางขึ้นเหนือไกลไปถึงเกาะฮอกไกโด (ในขณะนั้นเรียกว่า Ezo หรือ Yezo) และได้ไปพักกับชนพื้นเมืองชาวไอนุ ซึ่งเธออธิบายรูปพรรณสัณฐานตลอดจนวิถีความเป็นอยู่เอาไว้ว่ายังดิบเถื่อนอยู่มาก เบิร์ดนำประสบการณ์แปลกใหม่ครั้งนี้มาเขียนหนังสือเล่มถัดมาซึ่งมีชื่อว่า Unbeaten Tracks in Japan ตีพิมพ์ในปี 1881

หนังสือ Unbeaten Tracks in Japan เคยถูกนำมาแปลงเป็นหนังสือการ์ตูนในปี 2016 แต่ข้อมูลอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง เช่น อิซาเบลลา เบิร์ด มีอายุ 47 ปีแล้วขณะเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นในปี 1878 แต่ภาพลักษณ์ของตัวการ์ตูนอาจดูเหมือนเธอมีอายุเพียง 20 ต้น ๆ

จากญี่ปุ่น เบิร์ดเดินทางต่อไปยังฮ่องกงและจีน โดยเรือไอน้ำซอมซ่อชื่อว่า The Volga แต่ความลำบากก็ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีให้เธอนำมาเขียนหนังสือเล่มต่อมา The Golden Chersonese เพราะชาวยุโรป(ผู้มีอันจะกินพอจะเดินทางข้ามโลก)โดยมากจะเดินทางด้วยเรือเดินสมุทรชั้นเลิศและได้รับประสบการณ์เดินทางคล้าย ๆ กัน

ที่เกาะฮ่องกง เบิร์ดประทับใจในความงามของเมืองวิกตอเรีย (เมืองหลวงของฮ่องกงยุคอาณานิคม พื้นที่เขตเคนเนดี้ทาวน์ เชิงวาน และ หว่านไจ๋ ในปัจจุบัน) ถึงขนาดเปรียบเทียบกับเมืองเจนัวของอิตาลี และยิ่งตกตะลึงพรึงเพริดขึ้นไปอีกเมื่อไปถึงเมืองกวางโจวบนแผ่นดินใหญ่ เบิร์ดถึงกับบรรยายเอาไว้ว่า “เห็นกวางโจวก็ตายได้แล้ว” เธอเดินทางลงใต้สู่อุษาคเนย์ ถึงเวียดนาม สิงคโปร์ และมลายา จากนั้นเธอจึงเดินทางกลับอังกฤษในปี 1880

สานฝันที่อินเดีย ฝ่าทะเลทรายเปอร์เซียสะบักสะบอมกลับบ้าน

หลังอิซาเบลลา เบิร์ดกลับอังกฤษได้ไม่นาน เฮนเรียตตา (Henrietta Amelia Bird) น้องสาวของเธอเสียชีวิตจากโรคไทฟอยด์ ต่อมาเบิร์ดตกลงใจแต่งงานกับนายแพทย์บิช็อบ (Dr. John Bishop) คุณหมอประจำตัวของน้องสาว แต่หลังครองคู่กันได้เพียง 5 ปี นายแพทย์บิช็อบเสียชีวิตในปี 1886

เบิร์ดตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้งในปี 1889 โดยเป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ คือ อินเดีย ทิเบต และเปอร์เซีย ครั้งนี้เธอออกเดินทางผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลอดคลองสุเอซออกทะเลแดงสู่อนุทวีป เมื่อถึงอินเดียเธอเดินทางโดยรถไฟและขี่ม้าเป็นพาหนะหลัก ในขณะนั้นเบิร์ดมีอายุ 58 ปีแล้ว สุขภาพดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่เธอยังคงรักในการเดินทาง และครั้งนี้เธอพกเอาปณิธานทางการแพทย์ของสามีผู้ล่วงลับเดินทางมากับเธอด้วย

เบิร์ดขึ้นเหนือผ่านรัฐปัญจาบ และรัฐชัมมูและกัศมีร์ (จัมมูและแคชเมียร์) ที่นั่นเธอได้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาล 2 แห่ง คือ John Bishop Memorial Hospital ที่เมืองศรีนาคา และ Henrietta Bird Hospital ที่เมืองอัมริตสา เพื่อเป็นการรำลึกถึงสามีและน้องสาวผู้ล่วงลับ

การเดินทางหลายพันกิโลเมตรของเธอครั้งนี้มีอุปสรรคหลายครั้ง ครั้งหนึ่งม้าของเธอจมน้ำ และเธอได้รับบาดเจ็บซี่โครงหัก เมื่อรักษาตัวหายดีแล้วเธอก็เริ่มเดินทางต่อจากอินเดียต่อไปยังเปอร์เซียพร้อมกับนายทหารคนหนึ่งที่กำลังไปประจำการที่นั่น ผ่านทะเลทรายท่ามกลางอากาศหนาวเย็นกลางฤดูหนาว จนเดินทางถึงเตหะรานในสภาพสะบักสะบอม จากนั้นเธอท่องเที่ยวคนเดียวในอิหร่าน ต่อไปยังเคอร์ดิสถาน และตุรกี มุ่งหน้าทิศตะวันตกกลับอังกฤษอีกครั้ง

ประสบการณ์และข้อมูลความรู้ที่เบิร์ดได้รับจากการเดินทางอย่างยากลำบากผ่านแถบเปอร์เซีย ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีประโยชน์ต่อชาวอังกฤษมาก ทำให้เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์หญิงคนแรกของสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสก็อตแลนด์ (The Royal Scottish Geographical Society)ในปี 1890

2 ปีต่อมาเธอได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกหญิงคนแรกของสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (Royal Geographical Society) ที่ซึ่งนักสำรวจผู้สร้างผลงานระดับโลกอย่าง ชาร์ลส์ ดาร์วิส บิดาแห่งวิชาพันธุ์ศาสตร์และทฤษฎีวิวัฒนาการ, ริชาร์ด ฟรานซิส เบอร์ตัน ผู้ลักลอบเดินทางสู่นครเมกกะ และแปลอมตะนิทาน พันหนึ่งราตรี (อาหรับราตรี) เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกจนทั่วโลกรู้จัก, เพอร์ซีย์ ฟอว์เซตต์ เจ้าของทฤษฐีนครลับที่สาบสูญ Z ในอเมซอนซึ่งเชื่อกันว่าคือนครทองคำ เอล โดราโด ฯลฯ เป็นสมาชิกร่วมอยู่ด้วย

isabella bird

อาชีพใหม่วัยเกษียณในฐานะ ‘ช่างภาพหญิง’ ผู้เปิดโลกตะวันออกสู่สายตาตะวันตก

อิซาเบลลา เบิร์ดมีผลงานเขียนหนังสือและบทความต่อเนื่องมาหลายสิบปี จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในฐานะนักเขียนที่ก็ถือว่าอาวุโสพอสมควร

แต่ในวัย 60 ปีที่คนทั่วไปจะเกษียณตัวเองจากอาชีพหลัก เธอตัดสินใจวางปากกาแล้วหันมาเรียนรู้การถ่ายภาพ (ซึ่งตอนนั้นกล้องเพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้น) เริ่มต้นอาชีพใหม่ในฐานะช่างภาพ แล้วออกเดินสู่ตะวันออกไกลอีกครั้งในปี 1894 โดยครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่การสำรวจศึกษาประเทศเกาหลี และจีนแผ่นดินใหญ่ ในยุคนั้นชาวตะวันตกเรียกขานเกาหลี ซึ่งปิดประเทศมิดชิดราวกับเมืองลับแลว่า ‘อาณาจักรฤาษี’ (Hermit Kingdom)

อิซาเบลลา เบิร์ด มาถึงอาณาจักรฤาษีที่แทบไม่มีใครเคยเห็น พร้อมกับกล้องคู่ใจ แล้วเธอก็เริ่มบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่แสนมีคุณค่า เธอใช้เวลาหลายเดือนท่องเที่ยวสำรวจแม่น้ำฮัน และกุมกังซาน หนึ่งในภูเขาที่งดงามที่สุดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเธอขนานนามใหม่ให้ว่า Diamond Mountain จนทำให้ชาวตะวันตกรู้จักกุมกังซานในชื่อนี้ (ปัจจุบันอยู่ฝั่งเกาหลีเหนือ) แต่อยู่เกาหลีได้ไม่นานสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ก็เปิดฉากขึ้น จนเบิร์ดจำต้องเดินทางออกนอกเกาหลีแบบไม่ทันตั้งตัว ขนาดที่สัมภาระก็ยังแทบไม่สามารถนำติดตัวไปด้วยได้

หลังหนีสงครามที่เกาหลีออกมาได้อย่างฉุกละหุก เธอก็เดินทางไปเมืองเสิ่นหยางในแมนจูเรีย มณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ติดกับชายแดนเกาหลี แต่อยู่ในแมนจูเรียได้ไม่นานก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เบิร์ดเกือบจมน้ำเสียชีวิต เธอจึงต้องย้ายหนีอีกครั้ง คราวนี้เธอขึ้นเรือออกจากภูมิภาคที่กำลังคุกรุ่นขึ้นไปพักตั้งหลักที่เมืองวลาดิวอสต็อกของรัสเซีย และใช้เวลาสำรวจหมู่บ้านแถบไซบีเรียไปพลาง ๆ

หนังสือเดินทางของอิซาเบลลา เบิร์ด เมื่อครั้งไปเยือนเกาหลีใน ค.ศ. 1894

หลังเหตุการณ์เริ่มสงบ เบิร์ดขึ้นเรือกลับมาเกาหลีอีกครั้ง ผ่านเมือง วอนซอน ปูซาน อินชอน และกลับมาถึงโซลในช่วงวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1895 ซึ่งเบิร์ดเล่าว่าตรงกับวันที่กษัตริย์เกาหลีประกาศแยกตัวออกจากจีนและประกาศเอกราช (ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น) พอดี ครั้งนี้เบิร์ดมีโอกาสได้เข้าเฝ้ากษัตริย์และราชินีของเกาหลี ก่อนที่จะเดินทางต่อไปจีน ข้ามไปญี่ปุ่น แล้วกลับมาเกาหลีอีกครั้งหลังได้ยินข่าวเหตุลอบปลงพระชนม์จักรพรรดินีมย็องซ็อง (Empress Myeongseong) ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่ม และเดินทางบันทึกเรื่องราวและภาพถ่ายในเกาหลีต่อ โดยรอบนี้เธอขึ้นเหนือไปสำรวจถึงเปียงยางและภูมิภาคตอนบน

สำรวจแยงซี มหานทีที่ยาวที่สุดในเอเชีย

มาเยือนจีนครั้งนี้ เบิร์ดตัดสินใจที่จะสำรวจแม่น้ำแยงซีทั้งเส้น ตั้งแต่ปากแม่น้ำที่เซี่ยงไฮ๊ สู่เมืองอู่ฮัน ฉงชิ่ง ลูโจว เฉิงตู และอีกหลายเมืองน้อยใหญ่ตลอดเส้นทางระยะทางรวมทั้งทางน้ำทางบกร่วม 13,000 กิโลเมตร สู่ดินแดนห่างไกลที่เป็นต้นน้ำ ซึ่งยังมีข้อมูลทางการสำรวจอยู่น้อยมาก

เบิร์ดใช้เรือสำเภา (Wu Pan) เป็นพาหนะหลักในช่วงเริ่มต้นการเดินทางตั้งแต่ปากแม่น้ำแยงซีที่เซี่ยงไฮ๊ แล้วล่องขึ้นไปตามเมืองต้นน้ำร่วมกับคนเรือชาวจีนอีก 16 ชีวิต ซึ่งกิน นอน ทำอาหาร อยู่ร่วมกันบน ‘เรือบ้าน’ ลำนี้ทั้งวันทั้งคืนนานหลายเดือน เธอได้ถ่ายภาพบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศจีนเอาไว้มากมาย

ในยุคนั้น แม้สหราชอาณาจักรจะมีอิทธิพลเหนือประเทศจีน แต่ชาวอังกฤษที่มีโอกาสได้เดินทางมายังแดนมังกร ก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการ ทหาร หรือพ่อค้าที่มาเพื่อทำหน้าที่ของตน ชาวตะวันตกน้อยคนนักที่จะเคยเดินทางออกนอกเส้นทางสายหลักไปเห็นความวิถีความเป็นอยู่ของจีนที่แท้ เรื่องราวและภาพถ่ายที่เบิร์ดบันทึกเอาไว้กลายมาเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้โลกตะวันตกได้รู้จักดินแดนจีนลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านหนังสือ The Yangtze Valley and Beyond (1899) ล่าสุดผลงานถ่ายภาพของเธอถูกรวบรวมอีกครั้งมาไว้ในหนังสือ A Photographic Journal of Travels through China 1894-1896 ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2015

ช่วงเวลาที่วุ่นวายในแมนจูเรีย ทำให้เบิร์ดเรียนรู้ถึงกระแสต่อต้านชาวต่างชาติของคนจีน เพราะชาติจีนอ่อนแอลงอย่างมากเนื่องจากถูกคุกคามโดยอำนาจตะวันตกจากสหราชอาณาจักร และโดยอำนาจตะวันออกจากญี่ปุ่น แถมยังมีเหล่ามิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาซึ่งขัดกับวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีน บางเมืองถึงขั้นมีการเผาโบสถ์และจับมิชชันนารีมาทำร้ายจนถึงชีวิต

ด้วยเหตุนี้เบิร์ดจึงปรับตัวด้วยการแต่งกายอย่างชาวจีน หรือสวมกางเกงแทนกระโปรงยาวซึ่งเป็นค่านิยมของสตรียุควิกตอเรียนขณะนั้น และระมัดระวังในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังถูกโจมตีจากฝูงชนที่ต่อต้านชาวต่างชาติบางกลุ่ม ที่ตะโกนด่าทอเธอว่า ‘สุนัขต่างชาติ’ บ้าง ‘ปีศาจกินเด็ก’ บ้าง ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดเธอถูกขังไว้ในบ้านพร้อมกับจุดไฟเผา แต่เคราะห์ดีที่ทหารเข้ามาช่วยเหลือเธอได้ทันก่อนที่จะถูกเผาทั้งเป็น

สิ้นสุดการเดินทาง

โมร็อคโคเป็นประเทศสุดท้ายที่อิซาเบลลา เบิร์ดเดินทางไปเยือนในปี 1901 หลังจากกลับมาถึงอังกฤษไม่กี่เดือนเธอก็ล้มป่วย และเสียชีวิตลงก่อนวันเกิดอายุ 73 ปีเพียงสัปดาห์เดียว แต่แม้ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต กระเป๋าเดินทางของเธอถูกจัดไว้อย่างเรียบร้อยเพื่อเตรียมพร้อมออกเดินทางอีกครั้ง

ในทางหนึ่ง จุดเริ่มต้นของสตรีนักเดินทางในยุคนั้น เกิดมาจากความคิดขบถของผู้หญิงหัวใหม่ ที่ต้องการสวนกระแสค่านิยมหลักในสังคมชายเป็นใหญ่ และ อิซาเบลลา เบิร์ด ก็เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ ผู้เปลี่ยนสิ่งที่รักให้เป็นอาชีพ แม้ในเวลานั้นอาชีพนักสำรวจ หรือ ช่างภาพ จะยังไม่เปิดให้สตรีเข้ามามีพื้นที่ยืนก็ตาม และผลงานที่อิซาเบลลา เบิร์ด เหลือทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ก็ได้กลายมาเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ไม่แน่ว่าข้อมูลบางอย่างที่ ‘ผู้หญิงเที่ยวคนเดียวยุคปัจจุบัน’ หาอ่านจากไกด์บุ๊คในวันนี้ อาจจะมาจากประสบการณ์บางส่วนของ ‘ผู้หญิงเที่ยวคนเดียวยุคก่อน’ อย่าง อิซาเบลลา เบิร์ดก็เป็นได้

An introvert Star Wars fan boy who's also the co-founder of Cultured Creatures.

Magazine made for you.