SPACES WITHIN SPACE ‘พื้นที่ที่สาม’ นวัตกรรมพื้นที่ชีวิตคนเมืองแห่งอนาคต

‘พื้นที่ที่สาม’ คำนี้เตะตาเราตั้งแต่เริ่มเข้าสู่บริเวณนิทรรศการที่มีชื่อว่า SPACES WITHIN SPACE, A Vision of Co-Living Generation ซึ่งจัดขึ้นที่ Woof Pack Space เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

แรกทีเดียวเรานึกไปถึงคำว่า Third Place สถานที่เปลี่ยนบรรยากาศ ‘นอกบ้าน’ ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกันดี แต่เมื่อได้ไล่เรียงชมพื้นที่จัดแสดงแต่ละส่วน เราก็พบว่านิทรรศการนี้ กำลังบอกเล่าเรื่องของการออกแบบพื้นที่ที่สาม ‘ในบ้าน’ ซึ่งได้ถูกต่อยอดทางความคิด เพื่อวิถีแห่งการอยู่อาศัยร่วมกัน ที่ตีโจทย์พฤติกรรมมนุษย์ล่วงหน้าไปถึงอนาคต

และ ‘พื้นที่ที่สาม’ ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่แค่งานออกแบบธรรมดา แต่ยังเป็น ‘ทุนการศึกษารูปแบบใหม่’ ที่ AP THAILAND และ FABRICA ดีไซน์สตูดิโอชื่อดังจากประเทศอิตาลี ร่วมมือกันออกแบบและสร้างสรรค์ ‘ที่พักอาศัย’ เพื่อมอบให้กับนักศึกษาอีกด้วย

Co-Living Generation จุดเริ่มต้นของการค้นพบพื้นที่ที่สาม

จากโครงการ CSR สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว (AP Unusual Football Field) ต้นแบบสนามฟุตบอลแนวคิดใหม่ย่านชุมชนคลองเตย โครงการที่พัฒนาพื้นที่รกร้าง หรือว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้กลับมาสร้างประโยชน์ได้ ที่ทางบริษัท เอพี(ไทยแลนด์) จำกัด ได้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และยังถูกยกให้เป็น 1 ใน The 25 Best Inventions of 2016 จากนิตยสารไทม์ด้วย

มาปีนี้เอพีฯ ก็ได้คลอดโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า ‘AP SPCAE SCHOLARSHIP’ เป็นโครงการให้ทุนที่พักอาศัยเพื่อเป็นการเริ่มต้นของคนคุณภาพ โดยคัดเลือกเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด มีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัย และต้องย้ายเข้ามาศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ จำนวนทั้งหมด 7 คน โดยมีการออกแบบห้องชุดที่มีพื้นที่การใช้สอยเป็นพิเศษ สร้างสรรค์พื้นที่ที่จำกัด ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าทุกตารางเมตร

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย หรืออาจจะครั้งแรกของโลกด้วย ที่มีการแจกทุนการศึกษาเป็นที่พักอาศัย

โปรเจกต์นี้เอพีมุ่งนำเสนอการออกแบบที่อยู่อาศัยร่วมกันแห่งอนาคต ผ่านการศึกษาและค้นหาพื้นที่ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ หรือที่ทางเอพีเรียกว่า พื้นที่ที่สามจากประสบการณ์ 25 ปีที่ผ่านมาของเรา ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่การใช้ชีวิตคุณภาพ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียมที่ทุกตารางนิ้วมีค่า เอพีให้ความสำคัญกับการออกแบบ และก่อสร้างห้องของน้อง ๆ เด็กทุน AP SPACE SCHOLARSHIP เป็นอย่างมาก ทีม AP Design Lab ของเราจึงเลือกร่วมงานกับดีไซน์สตูดิโอชื่อดังระดับโลกอย่าง FABRICA  ที่มีนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลกมาช่วยในการออกแบบคุณสรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ผู้อำนวยการคอร์ปอเรทมาร์เก็ตติ้ง และเอพี ดีไซน์ แล็บ บมจ. เอพี(ไทยแลนด์) กล่าว

ตีโจทย์พื้นที่ให้แตก…ต่าง

หลังจากที่ทีม FABRICA นำโดย แซม บารอง  (Mr. Sam Baron) ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ จาก FABRICA (และเขายังเป็น 1 ใน 10 นักออกแบบที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งศตวรรษหน้า จาก Philippe Starck ในงาน Maison & Object-Now Fair 2010) ได้รับโจทย์สุดท้าทาย ออกแบบพื้นที่อาศัยในคอนโดมิเนียม ให้กับเด็ก 7 คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ละคนเดินทางมาจากคนละจังหวัด มีภูมิหลังและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องสำหรับผู้ชาย 4 คน ขนาดพื้นที่ 45 ตร.ม และห้องสำหรับผู้หญิง 3 คน ขนาดพื้นที่ 30 ตร.ม. (อยู่ในโครงการ Aspire รัตนาธิเบศร์ 2 และ Aspire สาทร-ตากสิน)

ต้องบอกเลยว่าโจทย์นี้ถือเป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย และต้องกลับมาขบคิดทำการบ้านอย่างหนัก แต่สำหรับทีม FABRICA ทีมดีไซน์สตูดิโอที่เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของหนุ่มสาวนักคิด นักออกแบบหลายเชื้อชาติ ซึ่งดีไซเนอร์ที่มาร่วมในโปรเจกต์นี้ก็มีทั้งจากประเทศฝรั่งเศส, อิตาลี, อังกฤษ, ไต้หวัน, สเปน, โปรตุเกส และเอกวาดอร์ จากต่างประเทศ ต่างภูมิภาค ต่างวัฒนธรรม จึงทำให้พวกเขามาร่วมช่วยกันสร้างสรรค์งานดีไซน์ ที่สะท้อนคุณค่าทางวัฒนธรรมได้อย่างเข้าใจ และชัดเจนมากยิ่งขึ้น ประกอบกับหนึ่งในปรัชญาการออกแบบของทีม FABRICA ที่ว่า ‘เชื่อมโยงความแตกต่างทางวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียว’ ในที่สุดพวกเขาร่วมกันคลอดดีไซน์คอนเซปต์ของโปรเจกต์ AP SPACE SCHOLARSHIP ออกมาได้อย่างน่าสนใจ (มาก ๆ ทีเดียว)

‘SUM’ หรือ Some of Small Parts คือ ดีไซน์คอนเซปต์ของโปรเจกต์นี้ เป็นการสร้างพื้นที่การอยู่ร่วมกัน เพื่อช่วยเสริมการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

สิ่งที่แนวคิด ‘SUM’ ตั้งคำถามคือ เราจะสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปันไปพร้อม ๆ กับการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยได้อย่างไร ‘SUM’ จึงสะท้อนวิธีคิดในการจัดวางพื้นที่สำหรับการอยู่ร่วมกัน โดยผลรวมของสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งหมดในห้องชุด คือ การเรียบเรียงองค์ประกอบอันหลากหลายให้เติมเต็มและเพิ่มคุณค่ากันและกัน เกิดเป็นสังคมใหม่เป็นทั้งพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ การแบ่งปัน และการอยู่ร่วมกัน แซม บารอน จาก FABRICA กล่าว

ถ่ายทอดและแบ่งปันสู่…นิทรรศการ SPACES WITHIN SPACE

นิทรรศการ SPACES WITHIN SPACE, A Vision of Co-Living Generation จัดขึ้นไปแล้วที่ WOOF PACK Space ศาลาแดง ซอย 1 นิทรรศการนี้ถ่ายทอดแนวคิดและการออกแบบของโครงการ AP SPCAE SCHOLARSHIP ภายในนิทรรศการเผยทั้งแนวคิด ที่มาที่ไปของโปรเจกต์ จำลองภาพของห้อง Room for 3 และ Room for 4 ในสเกล 1:1, Photo Gallery เป็นต้น และอีกไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด คือ งานออกแบบในห้องชุดทั้ง 2 ของทีม FABRICA ที่จำลองมาติดตั้งในนิทรรศการแบบใกล้เคียงกับของจริง เพื่อให้คนที่สนใจได้มาค้นหาความหมายของพื้นที่ที่สามแบบใกล้ชิด อาทิ

THE RAIL & THE HANGING : การออกแบบราวเหล็กและตะขอ พร้อมไอเดียเฟอร์นิเจอร์แขวนที่เคลื่อนย้ายได้ การดีไซน์ทะลุกรอบที่สร้างสเปซใหม่ขึ้นอย่างน่าอัศจรรรย์

THE LEARNING KITCHEN : สเปซครัวที่จะทำให้นักศึกษาได้ ‘เล่น/ Play’ + ‘เรียน/Learn’ = ‘เพลิน/Plearn’ เพราะการเรียนรู้ ไม่จำกัดให้ความคิดอยู่แค่เพียงโต๊ะทำงานสี่เหลี่ยม การได้เรียนไปเล่นไป ทำให้เกิดความสำเร็จมาแล้วมากมาย

THE COCOON : ดีไซเนอร์นำแนวคิดมาจากตัวดัดแด้ หรือรังไหมที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มตัวอ่อน มาประยุกต์ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ แค่ผนังชิ้นเดียวก็เกิดเป็นฟังชันก์โอบล้อมคนนั่ง กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม

CO-LIVING TABLE : ทลายความต่างทางวัฒนธรรม สะท้อนผ่านโต๊ะ 1 ตัว นี่คืออีกตัวอย่างการทับซ้อนทางดีไซน์ สร้างฟังก์ชั่นเป็นทั้งโต๊ะกินข้าวและโต๊ะทำการบ้านคนเดียว ตอบโจทย์ทั้งความเป็นส่วนตัวและการแบ่งปันพื้นที่ชีวิตกัน

HOME WITHIN HOME : ห้องนอนทรงแคปซูลออกแบบเชื่อม 3 ยูนิตเกาะแนวผนังไว้ด้วยกัน โดยมีหน้าต่างเป็นจุดที่ช่วยสร้างพื้นที่ส่วนตัว โดยยึดตามหลัก Human Dimension ที่มนุษย์เอเชียต้องการนอนแนวราบสำหรับยืดตัวนอนประมาณ 1.70-1.80 ซม.

THE DOOR KNOBS : ดีไซเนอร์ออกแบบ Door Knob บนหน้าต่างตู้เสื้อผ้าให้สนุกยิ่งขึ้น ผ่านก้านเหล็กหลายกหลายรูปทรง มีทั้งแนวตั้งแนวนอน อีกทั้งยังเพิ่มฟังก์ชั่นให้ใส่ซองเอกสารเข้าไปได้ด้วย

และอีกอัตลักษณ์ที่น่าสนใจของ SUM คือกราฟิกที่นำเสนอผ่านรูปทรงและสีสัน ประกอบขึ้นเป็นโลโก้ ซึ่งก็คือผลรวมของรูปทรงเรชาคณิตที่ทับซ้อนกัน เพื่อกำเนิดรูปร่างใหม่ ๆ ออกแบบโดย Silvia Matias นักออกแบบและที่ปรึกษาด้านกราฟิกชาวโปรตุเกสจาก FABRICA โดยโทนสีที่เลือกใช้นั้นจะสร้างความรู้สึกมีพลัง มีชีวิตชีวา โดยมีสีสันเหล่านี้อยู่ในเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ในห้องด้วย

spaces within space

นวัตกรรม พื้นที่ที่สามของ AP THAILAND x FABRICA ในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอมิติใหม่ในการออกแบบที่อยู่อาศัย ที่ฉีกกฎทุกข้อจำกัดของการออกแบบ ทลายกรอบทางความคิดในการออกแบบพื้นที่แบบเดิม ๆ จนกลายเป็นนวัตกรรมการออกแบบครั้งสำคัญ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์สู่โลกอนาคตอย่างแท้จริง

ไม่แน่ว่า…นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นพบอีกหลายพื้นที่ที่ยังถูกซ่อนอยู่

Magazine made for you.