SAN FRANCISCO : การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ SFMOMA พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ฝั่ง West Coast

ทันทีที่กลับมาเปิดตัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2016 ที่ผ่านมา SFMOMA ก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แถวหน้า ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน Modern Art Museum ที่ดีที่สุดของโลกไปในทันที แล้วการกลับมาใหม่ครั้งนี้ไม่เพียงแต่งานศิลปะที่จัดแสดงจะโดดเด่นไปเสียทุกนิทรรศการ แต่สถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่นั้นก็ยังเป็นที่จับตาไม่แพ้กันด้วย ส่งผลให้ซานฟรานซิสโกกลายเป็น Art Destination เมืองแห่งศิลปะที่โดดเด่นระดับโลกขึ้นมาอีกครั้ง

01Cover&Editorial_SFMOMA05

SFMOMA เป็นตัวย่อใช้เรียกพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในเมืองซานฟรานซิสโกที่มีชื่อเต็มๆ ว่า San Francisco Museum of Modern Art ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้กับศิลปะสมัยใหม่ในยุคศตวรรษที่ 20 เป็นหลัก ทั้งยังถือเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งแรกทางอเมริกาฝั่งตะวันตก ที่อุทิศให้กับศิลปะร่วมสมัย (Comtemporary Art) และศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) อีกด้วย

ถ้าฝั่งตะวันออก (East Coast) ของอเมริกา มี MoMA หรือ Museum of Modern Art ที่นิวยอร์กเป็นพระเอก ทางฝั่งตะวันตก (West Coast) ก็มี SFMOMA นี่แหละที่เป็นพระเอกเช่นกัน

01Cover&Editorial_SFMOMA07

01Cover&Editorial_SFMOMA15

พิพิธภัณฑ์ศิลปะนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1935 ภายใต้การดูแลของ Grace L. McCann Morley ซึ่งเดิมทีใช้ชื่อว่า San Francisco Museum of Art ตั้งอยู่บริเวณชั้น 4 ของ San Francisco War Memorial and Performing Arts Center (SFWMPAC) บนถนน Van Ness ในยาน Civic Center ตั้งแต่ปี ค.ศ.1932-1994 ก่อนที่จะย้ายมายังสถานที่ปัจจุบันที่มีตึกแรกเป็นของตัวเอง ตั้งอยู่บนถนน Third Street ในย่าน Yerba Buena

จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้ก็คือช่วงที่ Henry T. Hopkins เข้ามาดูแลระหว่างปี ศ.ศ.1974-1986 จนทำให้พิพิธภัณฑ์นี้มีชื่อเสียงในระดับสากล โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญในครั้งนั้นก็คือการเติมคำว่า Modern เข้าไปในชื่อเดิมในปี ค.ศ.1975 อันถือเป็นจุดกำเนิดของตัวตนใหม่ที่เป็นรากฐานของตัวตนในทุกวันนี้นั่นเอง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในยุคนี้ที่ Neal Benezra เข้ามาเป็นผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปะนี้ โดยในเดือนมิถุนายน 2013 ทางพิพิธภัณฑ์ได้ประกาศปิดตัวชั่วคราวเพื่อรีโนเวทพื้นที่ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ตัวอาคารเดิมไปจนถึงอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่เพิ่มเติม และเพิ่งจะกลับมาเปิดตัวในรูปโฉมใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2016 ที่ผ่านมานี่เอง

01Cover&Editorial_SFMOMA14

01Cover&Editorial_SFMOMA16

รูปโฉมใหม่ที่เปลี่ยนไปนั้นถือเป็นการยกเครื่องครั้งใหญ่ทีเดียว สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์ โดยอาคารใหม่ล่าสุดนี้ออกแบบโดย Snøhetta บริษัทสถาปนิกชั้นนำระดับโลก สิ่งที่โดดเด่นที่สุดนั้นเห็นจะเป็น façade สีขาวล้วนที่เป็นเส้นริ้วสวนกันไปมาอย่างแปลกตา ซึ่งพื้นผิวอาคารนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเมฆหมอกและกระแสน้ำในมหาสมุทรซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของซานฟรานซิสโกที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั่นเอง

01Cover&Editorial_SFMOMA10

แรงบันดาลใจในส่วนนี้ยังถ่ายทอดไปธีมของถึงการออกแบบ Visual Identity ใหม่ของทางพิพิธภัณฑ์ด้วย ใช่ว่าเกิดอาคารใหม่แล้วอาคารเก่าจะถูกทิ้งร้าง อย่างไรก็ดีอาคารเก่าที่มีเอกลักษณ์นั้นยังคงถูกรักษาไว้เป็นอย่างดีเช่นเดิมซึ่งอาคารหลังเดิมที่โดดเด่นด้วยตึกอิฐสีแดงพร้อมปล่องทรงกลมลายขาวดำนั้นออกแบบโดย Mario Botta สถาปนิกชาวสวิสที่โด่งดัง กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของซานฟรานซิสโกมานาน อาคารใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นมีการออกแบบให้เชื่อมต่อกับอาคารเก่าจนกลายเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมที่ออกแบบได้อย่างโดดเด่นทีเดียว เป็นนัยของการสื่อสารการเชื่อมต่อศิลปะสมัยใหม่จากศตวรรษที่ 20 สู่ ศตรวรรษที่ 21 ได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว

02Editorial_SFMOMA_IdentityDesign04

01Cover&Editorial_SFMOMA19

01Cover&Editorial_SFMOMA20

01Cover&Editorial_SFMOMA24

รูปโฉมใหม่นี้มีไฮไลท์เด็ดอยู่ 2 ส่วนหลักๆ นั่นก็คือ Fisher Collection ผลงานศิลปะสะสมของ Doris และ Donald Fisher สองมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งแบรนด์ GAP แฟชั่นระดับโลกที่มีต้นกำเนิดที่ซานฟรานซิสโกนี่เอง โดยผลงานศิลปะสะสมของตระกูลนี้ถือเป็นหนึ่งในผลงานสะสมศิลปะร่วมสมัยส่วนบุคคลที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่ามากที่สุดในโลกอีกด้วย ผลงานในคอเล็คชั่นของตระกูล Fisher ที่คัดเลือกมาจัดแสดงที่นี่ นั้นมีกว่า 260 ชิ้น เป็นผลงานศิลปะสมัยใหม่ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์อเมริกาไปจนถึงยุโรปในหลากหลายมิติโดยเป็นผลงานของศิลปินที่โดดเด่นอย่าง Chuck Close, Ellsworth Kelly, Lee Krasner, Roy Lichtenstein, Agnes Martin ไปจนถึงผลงานชิ้นเด่นของ Andy Warhol ศิลปินยุคศตวรรษที่ 20 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงกว้างมาจนถึงยุคปัจจุบัน

01Cover&Editorial_SFMOMA29

01Cover&Editorial_SFMOMA22

อีกหนึ่งโซนเด่นใหม่แกะกล่องก็คือ Pritzker Center for Photography โฉมใหม่ที่จับมือร่วมกับ Lisa & John Pritzker Family Fund เปิดแกเลอร์รี่ภาพถ่ายที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในอเมริกา ซึ่งเดิมที SFMOMA เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์แรกๆ ที่มุ่งสนใจการจัดแสดงภาพถ่ายในเชิงงานศิลปะมาตั้งแต่อดีต โดยมีคอเล็กชั่นที่เป็นภาพถ่ายเก็บสะสมไว้กว่า 17,800 ชิ้น ตั้งแต่ภาพถ่ายยุคที่ใช้กล้อง Medium Format ในปี ค.ศ.1839 จนถึงภาพถ่ายยุคดิจิตอลในปัจจุบัน สำหรับ Pritzker Center for Photography นี้มีพื้นที่จัดแสดงกว่า 1,440 ตารางเมตร มีภาพถ่ายทรงคุณค่าจัดแสดงอยู่มากกว่า 1,000 ภาพ และกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ตลอดจนศูนย์ข้อมูลด้านภาพถ่ายที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกา และเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ด้านภาพถ่ายที่ดีที่สุดในโลกในขณะนี้ด้วย

01Cover&Editorial_SFMOMA18

01Cover&Editorial_SFMOMA38

04Editorial_SFMOMA_Collections04

01Cover&Editorial_SFMOMA35

ปัจจุบัน SFMOMA มีพื้นที่จัดแสดงศิลปะกว่า 15,794 ตารางเมตร มีห้องจัดแสดงนิทรรศการกว่า 19 ห้อง มีผลงานศิลปะสะสมที่จัดแสดงอยู่กว่า 33,000 ชิ้น ตั้งแต่จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพถ่าย, สถาปัตยกรรม, ออกแบบ, ไปจนกระทั่งศิลปะสื่อผสม เปิดพื้นที่จัดแสดงศิลปะสมัยใหม่ในยุคศตวรรษที่ 20 ที่โดเด่นของโลก ตลอดจนส่งเสริมศิลปะสมัยใหม่แห่งยุคศตวรรษที่ 21 ในคราวเดียวกันด้วย

อีกความตั้งใจของการขยายตัวในครั้งนี้ คือการเปิดพื้นที่ศิลปะสาธารณะให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น โดยพื้นที่บริเวณชั้น 1 ทั้งหมดกว่า 4,181 ตารางเมตร ทั้งในส่วนภายในและภายนอกอาคารนั้นจะเป็นโซนศิลปะที่เปิดให้ทุกคนเข้าชมได้ฟรี แถมโซนศิลปะถาวรบางส่วนยังเปิดให้เยาวชนที่อายุตำกว่า 18 ปี เข้าชมได้ฟรีอีกด้วย

01Cover&Editorial_SFMOMA06

[su_tabs][su_tab title=”Details”]

Opening Hours:
ทุกวันเวลา: Free Public Space 09.00-17.00 / Exhibition 10.00-17.00
ทุกวันพฤหัสเวลา 09.00-21.00

Admission: $25

Location:
San Francisco Museum of Modern Art (SFMOMA)
151 Third Street, San Francisco, CA 94103 USA
sfmoma.org

[su_gmap width=”1600″ address=”san franscisco museum of modern art”][/su_gmap]

[/su_tab] [/su_tabs]

Image © San Francisco Museum of Modern Art, Snøhetta

นักเดินทางที่เป็นทั้งนักเขียนและช่างภาพในตัว เขียนงานให้กับสื่อต่างๆ ในเมืองไทยมากมายตั้งแต่สารคดีหนักๆ, บทสัมภาษณ์, ไปจนถึงเรื่องดีไซน์และแฟชั่น แต่ผลงานที่โดดเด่นเห็นจะเป็นบทความด้าน Food & Travel ที่เขียนถึงทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เขาหลงรักอย่างญี่ปุ่น

Magazine made for you.