KOLKATA ก้าวแรกจาก Street Photo สู่ Travel Film ของ Rockkhound ตั้ม-ชนิพล กุศลชาติธรรม

“สไตล์ผมคือจะต้องมาด้วยเพลงก่อน ฟังแล้วก็นั่งตีความไปกับมัน พอเราตีความได้ยังไง จากนั้นเราก็จะมาเริ่มทำ Story board กัน”

ชีวิตก็เหมือนจังหวะของดนตรี บางช่วงแผ่วเบา บางตอนเร่งเร้า เหมือนกับจังหวะของ ตั้ม-ชนิพล กุศลชาติธรรม เจ้าของ IG ภาพถ่ายสุดเท่ที่โด่งดังของเมืองไทยภายใต้ชื่อ Rockkhound ซึ่งวันนี้จังหวะของการสร้างสรรค์ผลงานของเขา เดินมาถึงจุดที่อยากลองเปลี่ยนจากภาพถ่ายนิ่งมาเป็นภาพเคลื่อนไหวในแบบ Travel Film ดูบ้าง ใครที่เคยเห็นฝีมือภาพถ่ายของเขาก็คงไม่ต้องโฆษณาความเจ๋งกันมาก เพราะแค่ได้ดูตัวอย่างของ KOLKATA ที่ปล่อยออกมาเรียกน้ำย่อยก็กระตุ้นความสนใจจนทำให้เราอยากออกไปท่องโลกบ้างในทันที และนี่คือการเดินทางผ่านมุมมองภาพเคลื่อนไหวครั้งแรกของเขา ที่เราอยากให้ลองสัมผัสมุมมองเขาดู

Q : จุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มขยับจากการถ่ายภาพนิ่งมาสู่การถ่ายภาพเคลื่อนไหว?

A : เราดูหนังแล้วเรารู้สึกว่าเรามูฟไปกับมัน เราเห็นวิดีโอดีๆ เยอะมาก มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำบ้าง ไม่ใช่ว่าถ่ายรูปมันไม่ดีนะ อันนั้นเราก็ยังทำอยู่ แต่มันถึงจุดที่เราอยากลองวิดีโอดูบ้าง หนังมันมีทั้งภาพและเสียง เคลื่อนไหวได้ด้วย กระตุ้นประสาทสัมผัสในการรับชมได้หลากหลายและลึกซึ้งกว่า ก็เลยเริ่มต้นศึกษามันดูว่าหนังที่ผมชอบเขาถ่ายกันยังไง วันรุ่งขึ้นผมก็ออกไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้เลย (หัวเราะ) ผมมองว่าถ้าจะทำวิดีโอ ผมก็ต้องมีอุปกรณ์ให้ครบ ไม่มีการมาแบบ เออๆ เดี๋ยวอนาคตค่อยซื้อ ไม่เอานะ ลงทุนไปเลย ทำเต็มที่ไปเลย เหตุผลหนึ่งคือผมไม่อยากโทษอุปกรณ์ ผมอยากโทษตัวเองนะถ้ามันจะออกมาไม่ดีน่ะ นี่ไงอุปกรณ์โคตรพร้อม ถ้ายังดีไม่พอก็ต้องฝึก ฝึก ฝึก แล้วก็ฝึกอีก เพื่อให้เราทำได้อย่างที่เราต้องการ เรียนรู้เองหมดเลยครับ

Q : จุดกำเนิดของโปรเจกต์ KOLKATA ทริปนี้?

A : จริงๆ ผมเริ่มทำโปรเจกต์ Travel Film ของเมืองไทยก่อนนะ (หัวเราะ) พอดีผมมีเพื่อนที่เป็นสจ๊วตด้วยกันเขาเป็นนักไตรกีฬาด้วย เราชอบเที่ยวด้วยกัน วันนึงผมอยากทำวิดีโอแล้วก็เลยคุยกับเพื่อนว่าทำกันเหอะ มันก็บอกว่า ก็เอาดิ เราก็ลุยเลย ง่ายมาก จริงๆ แล้วในหัวผมก็คิดอะไรไปไกลแล้ว (หัวเราะ) ผมไม่อยากทำวิดีโอแบบท่องเที่ยวทั่วไปที่คนอื่นเขาทำกัน ถ่ายภาพสวยๆ เอามาตัดต่อ แต่เราอยากทำฟีลลิ่งเหมือนหนัง มีตัวเดินเรื่อง แต่ก็ไม่เด่นจนถึงกับต้องมีบท มีสคริปต์ เราก็เอาเพื่อนนี่แหละเป็นตัวเดินเรื่อง แล้วเราเป็นคนถ่าย ด้วยพื้นฐานที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าเราสนใจอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น ประสบการณ์เรานี่แหละที่อยากถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ กองผมก็เริ่มต้นด้วย 2 คนเลยครับ เราช่วยกันคิด ช่วยกันทำ วางแผนจริงจังเลยนะ แต่ก็เอาความสนุกของพวกเราเป็นหลักด้วย แล้วด้วยความที่เรามีกันอยู่ 2 คนเอง ก็เลยเริ่มที่โปรเจกต์เมืองไทยก่อนนี่แหละ ผมกับเพื่อนเป็นคนที่เที่ยวเมืองไทยกันบ่อยๆ อยู่แล้วนะครับ ผมมองว่าประเทศเราสวยมาก แต่เราต้องไปให้ถูกที่ ถูกเวลา ก็เลยเริ่มทดลองทำ Pilot เล็กๆ กันก่อน จังหวัดแรกที่เลือกเลยก็คือพัทยา หลายคนอาจจะงงว่าทำไม ผมว่าเดี๋ยวนี้พัทยาเป็นที่ที่ถูกมองข้าม พัทยาไม่ใช่ที่ท่องเที่ยวทะเลสักเท่าไรแล้ว กลายเป็นที่ที่คนไปกินอาหารทะเล ไปแฮงค์เอาท์แบบคนเมือง ไปสนุกกับแสงสีความบันเทิง ทั้งที่จริงทะเลพัทยาก็ยังสวยมากอยู่ ผมเริ่มต้นที่เกาะล้าน ทะเลที่นี่สวยมาก จากนั้นก็เขาชีจันทร์ ผสมทั้งทะเลและภูเขา เราจะทำพัทยาออกมาให้น่าสนใจได้ยังไง ผมว่ามันท้าทายดีนะ

Q : แล้วไปไงมาไงถึงได้เป็นอินเดีย?

A : ผมแพลนไว้ว่าจะทำสต็อกเมืองไทยไว้ก่อน แล้วก็ค่อยๆ ปล่อย ระหว่างที่ทำไปแล้วประมาณ 3 จังหวัด อยู่ๆ ผมก็รู้สึกว่า เฮ่ย! เราอยากปล่อยอินเดียก่อนว่ะ มันเป็นวิดีโอตัวแรกของเราด้วย ต้องทำให้คนอยากดู ไม่ใช่แค่สวยอย่างเดียวแต่ต้องน่าสนใจด้วย อินเดียมีเสน่ห์บางอย่างที่ผมชอบ เบสิคแล้วผู้คนที่โน่น สภาพบ้านเมือง ถ่ายออกมามีความน่าสนใจอยู่แล้ว ก็เลยไปอินเดียกันเลย

Q : ทำไมต้องกัลกัตตา?

A : ผมชอบอินเดียและอยากไปมาก และนี่คือการไปอินเดียครั้งแรกของผม จริงๆ แล้วผมเป็นคนที่ชอบอะไรที่ยากๆ นะ แต่ด้วยความที่ทริปนี้ไปกับเพื่อนหลายๆ คนด้วย ก็เลยโหวตกันว่าจะเป็นเมืองอะไร อีกอย่างผมก็เพิ่งเริ่มถ่ายวิดีโอด้วย ก็ตกลงกันว่าจะเอาเมืองระดับกลางแล้วกัน อะไรที่ไม่ยากจนเกินไป และไม่ง่ายจนเกินไป แล้วเราก็ไม่อยากเจอความโกลาหลที่หนักเกินไป บางเมืองวุ่นวายมากจนบางทีเราก็ทำงานไม่ได้ คนเยอะเกินจนถ่ายไม่ได้ เรายังถือว่ามือสมัครเล่นอยู่ ก็เลยขอเมืองอะไรที่เราสามารถถ่ายได้ไม่ยากนัก เราก็เลยสรุปกันเป็นที่กัลกัตตา เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าเพราะฉะนั้นความเจริญและประวัติศาสตร์มันมีพร้อมอยู่แล้ว เมืองมันมีเรื่องราวของตัวมันอยู่แล้ว ความเจริญก็มี ความเป็นท้องถิ่นก็ยังสูง เมืองสวย ผู้คนน่าสนใจ ชุดมีเอกลักษณ์ มันเลยลงตัวที่เมืองนี้

“วันรุ่งขึ้นเราก็เปลี่ยนแผนเลย บอก Taxi ขับไปเรื่อยๆ ยังไม่มีจุดหมาย ระหว่างทางถ้าเจออะไรที่น่าสนใจก็จอด แล้วเข้าไปเลย”

Q : เริ่มลุยอย่างไร?

A : ทุกโปรเจกต์เราจะต้องวาง Storyboard ก่อน แต่สไตล์ผมคือจะต้องมาด้วยเพลงก่อน ค่ำๆ พอเปิดเพลงผมก็จะไม่ทำอะไรแล้ว ปิดไฟ นั่งฟัง แล้วก็นั่งตีความไปกับมัน วันรุ่งขึ้นผมก็จะมานั่งคุยกับเพื่อนเลยว่า เฮ่ย! ตีความได้แบบนี้นะ นายตีความได้ว่าไง ก็คุยกันจนเกิดภาพที่เราเห็นคล้ายๆ กัน หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำ Storyboard กันว่า เพลงขึ้นแบบนี้นะ ภาพแรกเป็นไง ภาพต่อมาเป็นไง บางทีก็หา reference มาดูกัน ใช่เฟรมแบบที่เราต้องการกันหรือเปล่า

Q : วิดีโอทุกตัวเริ่มต้นด้วยเพลงเลยใช่ไหม?

A : ครับ อาจจะเพลง ดนตรี หรือ Sound อะไรก็ได้ที่ให้แรงบันดาลใจกับเรา ผมคิดว่าเพลงเป็น factor สำคัญมากพอๆ กับภาพ สี องค์ประกอบอื่นๆ เป้าหมายของเราคือสร้าง identity ตัวตนของเราคือต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากออกมาเที่ยวแบบเรา แล้วเพลงก็ต้องเป็น inspiration ให้ได้ด้วย

Q : แล้ว Sound ของ KOLKATA คืออะไร?

A : ตอนแรกผมก็นั่งเลือกเพลงกับเพื่อนอยู่นาน ด้วยความที่เป็นวิดีโอตัวแรกๆ ที่เริ่มทำกันด้วย ความคิดแรกของพวกเราเลยก็คือเอาดนตรีที่กำลังฮิตหรือคุ้นหูในตอนนี้นี่แหละเอามาใส่ คนดูจะได้อินง่ายขึ้น ก็เลือกกันอยู่นานมาก แต่พอไปกัลกัตตากลับมาแล้ว ตัดไปตัดมามันเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่ละ เพลงมันไม่ส่งภาพ มันไม่ตอบคำถามเรา เราอยากได้ Sound ที่เป็นอินเดียว่ะ ผมก็เลยไปหาซื้อ Sound Stock ที่เป็นดนตรีอินเดียเลย มันเปิดโลกมาก เราไม่รู้จักหรอกว่าอะไรดีไม่ดี รู้แต่ว่าฟังแล้วใช่ ใช้เซนต์ล้วนๆ แล้วก็ซื้อ Sound Stock ที่มันเป็นพวกเสียงธรรมชาติมาเบรกด้วย พอทำไปแล้วรู้สึกว่า เฮ่ย! นี่แหละ ใช่เลย ผิดไปจากแผนที่วางตั้งแต่ต้นเลย แต่ออกมาอย่างที่ชอบเลย

Q : อินเดียในความเป็นจริงนี่สนุกอย่างที่คิดหรือเปล่า? หรือว่าไม่ชอบเอาซะเลย?

A : สนุกบ้าง ลำบากบ้าง ไม่สะดวกสบายหรอก แต่ชอบมาก เช้าวันแรกที่เราบินถึง พอออกจากสนามบินก็ต้องนั่งรถผ่านถนนที่พังมากๆ ไม่เคยเห็นถนนอะไรที่พังหนักขนาดนี้ ข้างทางก็มีกำแพงพังๆ สลับกับตึกเก่าๆ คนเดินไปเดินมา รถก็เขย่าตลอดทาง แต่มันสวยมาก สวยแบบดิบๆ ทุกอย่างเปิดตาผมมาก ผมเก็บ footage ตลอดทางเลยนะ แต่มันเป็น footage ที่ใช้ไม่ได้เลยครับ แต่มันมีความสุขและสนุกมากอย่างบอกไม่ถูก โหวันแรกนะเนี้ยะ จริงๆ แล้วทั้งทริปผมวางแผนไว้เรียบง่ายมาก ผมอยากจะไปเจอผู้คน คนมันเยอะอยู่แล้ว พอเข้าโรงแรมเสร็จเราก็ออกไปตามแผนเลย ไปพิพิธภัณฑ์โน่นนี่ แต่พอกลับมาโรงแรมเราก็มานั่งคิดกันว่า เฮ่ย! มันไม่ใช่น่ะ ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะไปไหนกันแน่ เพราะถ้าเราจะไปตามสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไปกันนี่ก็ไม่ต่างอะไรกับวิดีโอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวธรรมดา เราไม่ได้อยากมาถ่ายรูป Museum เราอยากมาอยู่กับคนไม่ใช่เหรอ ไปตามที่ที่ Tourist ไปก็ไม่ได้เจอคน Local เราก็จะเจอแต่นักท่องเที่ยว เรามีเวลาแค่ 6 วันเองนะ วันรุ่งขึ้นเราก็เปลี่ยนแผนเลย บอก Taxi ขับไปเรื่อยๆ ยังไม่มีจุดหมาย ระหว่างทางถ้าเจออะไรที่น่าสนใจก็จอด แล้วเข้าไปเลย

Q : เริ่มเข้าที่เข้าทางกับกัลกัตตาตอนไหน?

A : ผมว่าก็วันที่สองนี่แหละ เพราะวันแรกที่ไปถึงนี่เที่ยวแบบสวยงาม ดีงาม แต่ เฮ่ย! มันไม่ใช่ว่ะ อย่างที่บอกวันที่สองเราเริ่มต้นกันแต่เช้าเลยเราก็ให้ Taxi ขับไปโดยที่ไม่รู้ว่าจะไปไหนจนกระทั่งเรามาเจอซอยซอยนึง เฮ่ย! มีคนอาบน้ำกลางถนนว่ะ อันที่จริงก่อนมาผมบอกกับเพื่อนว่าผมอยากอาบน้ำกลางถนนเพื่ออยากถ่ายเป็น footage ด้วย แต่นี่เจอของจริงเลย ก็จ่ายเงิน Taxi แล้วก็ลงมาเลย มันคือตลาดที่เขามาขายของกันทุกเช้าแต่ผมก็ไม่รู้ว่าเค้าเรียกว่าอะไรนะ พอเดินเข้าไปปั๊บทุกคนแบบหันมามองเลย ด้วยความที่เราเป็นคนต่างชาติด้วย แต่งตัวก็ไม่เหมือนคนท้องถิ่นอยู่แล้ว ดันมีกล้องและอุปกรณ์เต็มตัวอีกต่างๆ หาก แต่ที่เซอร์ไพรส์มากคือทุกคนไม่ได้มองเราแบบรู้สึกว่าเป็นศัตรู ทุกคนเป็นมิตรมาก ยิ้มแย้มให้เราถามว่ามาจากไหน มาทำอะไร จะถ่ายวิดีโอเอาไปลงที่ไหน ทุกคนเช็คแฮนด์กับเราหมด กอดคอ ถ่ายรูป ยกกล้องขึ้นมาถ่ายทุกคนอยากถ่าย เฮ่ย! เราชอบว่ะ เราต้องหาที่แบบนี้แหละเพราะนี่คือเป้าหมายของเรา

Q : มีวิธีการปรับตัวหรือเทคนิคในการเข้าหาคนท้องถิ่นที่เราไม่รู้จักอย่างไร?

A : ง่ายมากๆ ครับ ทุกที่ก่อนที่เราจะไปเราต้องรู้จักวัฒนธรรมเขาก่อน ไม่งั้นอาจเจอ culture shock ได้ บางประเทศเขาให้ถ่ายรูป ยิ้มต้อนรับ แต่บางประเทศก็ผิดกฎหมาย ถ่ายไม่ได้เลยเพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล บางที่ถ่ายได้แต่ต้องขออนุญาตก่อน แต่หลักการง่ายๆ คือเราต้องนอบน้อม เราต้องรู้จัก Culture และรู้จัก Respect ให้ความนับถือเขาก่อน ทำตัวน่ารัก รู้จักพูดคุย เราไปขอเขาเราก็ต้องพร้อมยอมรับการที่จะถูกปฎิเสธด้วย แล้วถ้าเขาปฎิเสธเราเราก็ไม่มีสิทธิ์ไปอารมณ์เสียใส่เขาด้วย ถ้าทำตัวน่ารักใครๆ ก็ต้อนรับครับ อย่างอินเดียนี่เขาดูแลเราอย่างกับเพื่อน กอดคอ เลี้ยงน้ำ เป็นมิตร แต่อย่างยุโรปนี่เขาจะถือความเป็นส่วนตัวมาก ก็ต้องขอเขาก่อน

Q : เสน่ห์หรือวัฒนธรรมอะไรของกัลกัตตาที่เราเจอแล้วน่าสนใจ?

A : คนครับ คนที่โน่นน่ารักมาก ถ้าเราทำตัวน่ารัก ไม่ข้ามเส้น นับถือเขา เขาเป็นมิตรมาก อย่างที่เจอแล้วประทับใจมากเลยก็คือเราไปถ่ายในตลาดแล้วเค้าก็ไม่ได้รู้จักเรา ไม่ได้รู้ว่าเรามาถ่ายอะไร เขาไม่ได้ถามอะไรเลยนะแต่จู่ๆ เขาก็ เอ้า! ชาร้อน ยื่นมาให้เรา ผมดูรวมๆ แล้วเขาก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนรวยนะ ร้องเท้าก็ไม่ใส่ เสื้อผ้าก็ดำๆ ขาดๆ แต่เอาชามาให้เรากินฟรีๆ โห ชาสีสวยมาก สีน้ำตาลแล้วมีควันร้อนลอยขึ้นมาเลย ถ้ามองเป็น Visual นี่สวยเลย แต่ถ้ามองบนโลกแห่งความเป็นจริงนี่เป็นมิตรภาพที่โคตรสวยงามเช่นกันครับ มันดีมาก คนที่นี่มีเสน่ห์มาก ไม่นับเครื่องแต่งกาย บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ แค่รถ taxi จอดอยู่เฉยๆ หน้าบ้านยังสวยเลยครับ ยิ่งผู้คนประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่มีดีเทลล์เยอะอีก สำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพนี่ต้องรักแน่นอน มันเหมือนเป็นสิ่งที่เราตามหามาตลอด

Q : แล้วการแบกอุปกรณ์เยอะๆ ไปถ่ายทำวิดีโอในชุมชนที่วุ่นวายนี่มันเป็นอุปสรรค์อะไรหรือเปล่า?

A : แน่นอนครับ ผมแบกอุปกรณ์ไปทั้งหมด 4 ตัวหลักๆ คือ 1.กล้อง DSLR 2.กล้อง GoPro 3.Phantom Drone 4.DJI Osmo Action Cam อยากถ่ายภาพอะไร อยากได้มุมแบบไหนก็หยิบขึ้นมาถ่าย บางทีมือถือ DSLR กล้องตัวใหญ่ถ่ายมุมสวยๆ บนหัวก็ติด GoPro เอาไว้ถ่ายมุมมองจากตาเราจริงๆ บางทีถ่ายวิ่งตามเด็กก็ใช้ Camera Handle Stabilizer ข้างหลังสะพายอุปกรณ์ DSLR ข้างหน้าสะพาย Drone แล้วก็วิ่งไปด้วย (หัวเราะ) แต่ก็สนุกดีครับ ยังไม่ถึงกับขั้นเอาดอลลี่ไปวาง ตั้งกองขนาดใหญ่ อย่างนั้นมันต้องขออนุญาตแล้ว ก็คงวุ่นวายกว่านี้อีกหลายเท่า แต่เราเอาเท่าที่ 2 คนจัดการอยู่ก็พอ ส่วนโดรนเราเอาไว้เก็บภาพมุมสูง เล่าเรื่องเล่ามุมมองในแบบที่เราต้องการ ผมจะไม่ใช้โดรนซี้ซั้วนะ เอาที่จำเป็น โดยเฉพาะในชุมชน คือเราเกรงใจสถานที่ด้วย ถ้ามัวแต่บินๆ โห มันทำให้คนอื่นสนใจเรา มันจะไม่ได้ธรรมชาติของคนในท้องถิ่นแล้ว หรือบางทีสี่แยกที่รถเยอะ เราก็อยากได้มุมสูงนะ แต่เอาโดรนขึ้นนี่อันตรายแน่นอน เรายังไม่เชี่ยวชาญด้วย เราก็เอาแค่ที่เราต้องการและควรจะใช้ อย่างผมเอาโดรนขึ้นตรงสะพานเหล็กขนาดใหญ่ เพราะเราต้องการให้ภาพแสดงถึงสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตทอดข้ามแม่น้ำสายยาว เพราะผมกำลังเล่าเรื่องแม่น้ำด้วย ซึ่งโดรนถ่ายทอดได้ดีกว่า แล้วบริเวณนั้นขึ้นโดรนก็ไม่มีปัญหาด้วย เราถึงจะใช้โดรน

Rockkhound

Q : หลังจากกลับมาเริ่มการตัดต่ออย่างไร?

A : ผมตัดตั้งแต่ตอนอยู่ที่อินเดียแล้วครับ ผมตื่นเต้นมากตั้งแต่ถ่ายแล้ว กลับมาจากถ่ายวันแรกก็เอา footage มาเรียงเลย พอเรียงแล้วก็พบว่ามันไม่ใช่อ่ะ ก็ถ่ายใหม่ ตัดใหม่ วางแผนกันใหม่ แล้วทุกวันก็เอา footage มาเรียงกันดู แต่สุดท้ายก็ไม่เสร็จ (หัวเราะ) กลับมาไทยเดือนนึงแล้วก็ยังตัดอยู่ ยังไม่พอใจสักที ตอนที่ทุกคนเห็นทีเซอร์ตัวอย่างนี่ก็ยังตัดไม่เสร็จนะ (หัวเราะ) ตัดทีเซอร์ให้ดูกันก่อน แต่ก็ตัดไปได้ 90% แล้ว พอตัดเสร็จเราถึงจะปล่อยตัวเต็ม เพราะเราจะปล่อยก็ต่อเมื่อมีคุณภาพ ผมไม่อยากให้คนมาพูดว่าวิดีโอก็โอเคนะ เฉยๆ ผมอยากให้เขาชอบ เขาเกิดแรงบันดาลใจในการอยากไปเที่ยว

Q : จุดพอใจคืออะไร?

A : ไม่ทราบครับ ตอบไม่ได้เลย รู้แต่ว่าผมต้องพอใจถึงจะปล่อย อย่าง KOLKATA นี่ตัดไป 8-9 episode ได้แล้วมั้งครับ แต่ผมก็ยังไม่พอใจ ทุกครั้งที่มันยังไม่ใช่ก็รื้อใหม่หมดเลย ตัดใหม่ บังคับให้ตัวเองลบไฟล์ที่ตัดทิ้งเลย อย่าเสียดาย ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่ดีหรอก ไม่ใช่ก็ไม่ต้องเก็บ ก็เริ่มใหม่ทุกครั้งจนกว่าเราจะชอบ

Q : บทสรุปของ KOLKATA คืออะไร?

A : มันตอบคำถามผมเลยนะ “สายน้ำเพื่อชีวิต” มันเป็นวิถีที่เป็นอินเดียมากๆ ผมไม่คิดว่าสะพาน Howrah Bridge ที่เป็นหนึ่งในสะพานเหล็กที่ใหญ่และยาวที่สุดในโลกมันจะมีเสน่ห์ขนาดนี้ มันไม่ได้สวยเพราะมันใหญ่โต แต่สำหรับผมมันสวยเพราะมันมีชีวิต ทุกชีวิตเกิดขึ้นรอบๆ นั้น บนสะพานมีรถวิ่งตลอดเวลา ด้านข้างก็มีคนเดินข้ามไปข้ามมาตลอดเวลาด้วย ขนของมาขาย มันไม่ใช่แค่สะพาน แต่มันคือเส้นทางหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของเขา ด้านล่างสะพานก็มีตลาด จริงๆ ก็ไม่ใช่ตลาดนะ มันเป็นถนน แต่คนก็มารวมตัวกันขายของ มันเป็นชีวิตผู้คนจริงๆ เลยไปริมน้ำหน่อยก็มีคนอาบน้ำ ตัดผม โกนหนวด ทำพิธีกรรมทางศาสนา จนกระทั่งซ้อมมวยปล้ำริมน้ำ คือผม amazing มาก มันเป็นชีวิตกับสายน้ำจริงๆ ผมประทับใจมาก คนไม่รังเกียจกันเลย ทุกคนให้ความเคารพในสายน้ำ ธรรมชาติ มันเป็นวิถีของเขาซึ่งผมเองก็ไม่สามารถเข้าใจได้เลย

Q : แล้ว Local กับ City ล่ะ ชอบอะไรมากกว่ากัน?

A : ผมไม่แอนตี้อะไรเลยครับ ผมไม่ได้ยืนอยู่ในจุดที่จะต้องตัดสินว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่ผมอยู่ในจุดที่ผมชอบหรือไม่ชอบอะไรต่างหาก บางทีมันดี แต่ผมไม่ชอบ ก็มีนะ การท่องเที่ยวก็เหมือนศิลปะที่มันขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ผมถ่ายเมืองมาเยอะ จนถึงจุดที่ว่าผมอยากถ่ายคนแล้วน่ะ อยากถ่ายวิถีท้องถิ่น ไม่ได้แปลว่าเมืองไม่ดีนะ แต่ชีวิตที่ผมอยากถ่ายมันไม่ใช่เมืองไง มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผมอยากได้มากกว่า

Q : เป้าหมายต่อไปของ Rockkhound?

A : หวังว่าจะพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นเรื่อยๆ อยากถ่ายวิดีโอออกมาแล้วคนชอบ ไม่ต้องเข้าใจก็ได้ว่าผมทำอะไร แต่ถ้ารับรู้ได้ว่างานเราผ่านการคิดมานะ ดูแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากเที่ยวหรืออยากทำแบบนี้บ้างนี่ผมก็แฮปปี้สุดๆ แล้ว อยากให้ทุกคนรู้ว่าเราตั้งใจทำมัน ผมว่าถ้าเราตั้งใจจริงๆ คุณภาพของงานมันจะบอกได้เอง ตอนนี้ผมก็จะเริ่มปล่อยวิดีโอ KOLKATA ก่อน ต่อจากนั้นก็จะเริ่มปล่อยวิดีโอเมืองไทยที่เราถ่ายสต็อกไว้แล้ว ก็กะว่าจะปล่อยเดือนละจังหวัด สำหรับเมืองไทยก็กะจะทำไปเรื่อยๆ จนไม่มีเรื่องจะทำ (หัวเราะ) ผมว่าบ้านเรายังมีอะไรน่าสนใจอยู่อีกเยอะมาก ส่วนต่างประเทศก็อยากทำมากเหมือนกัน ก็ดูจังหวะว่าอะไรพร้อมเมื่อไร ก็ลุยเลย

นักเดินทางที่เป็นทั้งนักเขียนและช่างภาพในตัว เขียนงานให้กับสื่อต่างๆ ในเมืองไทยมากมายตั้งแต่สารคดีหนักๆ, บทสัมภาษณ์, ไปจนถึงเรื่องดีไซน์และแฟชั่น แต่ผลงานที่โดดเด่นเห็นจะเป็นบทความด้าน Food & Travel ที่เขียนถึงทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เขาหลงรักอย่างญี่ปุ่น

Magazine made for you.