วันเดียวเที่ยว ‘ออสโล’

หากเรามีเวลาเที่ยวกรุง ‘ออสโล’ สั้นๆ เพียงวันเดียว สถานที่ใดบ้างที่น่าไปเยี่ยมชม ในแบบไม่เร่งรีบ และอ่อนโยนต่อกระเป๋าเงินอันบอบบางไปพร้อมกัน

ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องค่าครองชีพที่สูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้หลาย ๆ ครั้ง การจะเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ เราจะต้องคิดพิจารณาค่าใช้จ่ายให้รอบคอบกันสักเล็กน้อย สำหรับทริปนี้ ผมได้มีโอกาสไปแวะกรุงออสโลหนึ่งวันหลังจากได้ไปตั้งเต็นท์แคมปิ้งที่หมู่เกาะโลโฟเตนทางตอนเหนือ ด้วยความที่มีเวลาเที่ยวไม่มากนักและเหนื่อยจากการเดินทางตลอดทั้งทริป ทำให้คราวนี้ ผมตั้งใจเที่ยวแบบไม่เร่งรีบและไปชมสถานที่หลัก ๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าเข้าชม

[su_gmap width=”1600″ address=”oslo”][/su_gmap]

ก่อนอื่น ขอแนะนำอย่างคร่าว ๆ กันก่อน กรุงออสโลเป็นเมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ ในภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ทางตอนเหนือของยุโรป มีความหนาแน่นประชากรไม่สูงนัก ราว 668,000 คน (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2017) ในพื้นที่ขนาด 480 ตร.กม. ขณะที่กรุงเทพฯ ของเรามีประชากรมากกว่าเกือบ 9 เท่า และมีพื้นที่มากกว่าออสโลถึง 3 เท่าเลยทีเดียว แต่กรุงออสโลนั้นเก่าแก่มาก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1040 โดยเชื่อกันว่าชื่อ Óslo หรือ Áslo แต่เดิมนั้นหมายถึง “ทุ่งหญ้าที่เชิงของเนินเขา” ในช่วงปี 1300 กรุงออสโลกลายเป็นเมืองหลวงของนอร์เวย์ และเคยเปลี่ยนชื่อเป็น Christiania ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก่อนจะกลับมาใช้ชื่อเดิมอีกครั้งในปี 1925 เป็นต้นมา

ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกันส่วนมากมักจะมีมุกล้อเลียนกันเอง ด้วยความที่เคยมีประวัติศาสตร์กระทบกระทั่งกันมาก่อนบ้าง สำหรับประเทศในสแกนดิเนเวียนั้นก็เช่นกัน นอร์เวย์มักจะติดภาพว่าเป็นประเทศสามล้อถูกหวย คือ โชคดีค้นพบขุมทรัพย์น้ำมันมหาศาลใต้ทะเล ทำให้จากที่เคยยากจน เป็นลูกไล่ของประเทศข้างเคียงอย่างสวีเดนและเดนมาร์ก ก็กลายเป็นเศรษฐีใหม่ในชั่วข้ามคืน งานจำพวกบริกรตามร้านอาหารหรือโรงแรม ก็มีวัยรุ่นสวีดิชเข้ามาทำเป็นจำนวนมาก จนมีมุกกันว่าคนนอร์เวย์จะกินกล้วยทีก็ปอกไม่เป็นต้องให้บริกรสวีดิชปอกให้ stereotype หรือคตินิยมแบบเหมารวมที่มองคนนอร์เวย์จากเพื่อนบ้านก็มักจะเป็น คนที่ไม่ค่อยฉลาด ไม่ทันคนนัก แต่รวยเพราะน้ำมัน ส่วนคนสวีดิชก็จะเป็นคนที่ยึดมั่นถือมั่นทำอะไรตามกฎ เจ้าระเบียบ และคนเดนิชก็จะเป็นคนขี้เมา เพราะนโยบายด้านเครื่องดื่มน้ำเมานั้นผ่อนปรนที่สุดในกลุ่ม แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมดจะเป็นแบบนั้น เป็นเพียงมุกล้อเลียนกันเองขำ ๆ เสียมากกว่า


บริเวณโดยรอบสถานี Oslo S ศูนย์กลางขบวนรถไฟ, รถเมล์ และรถราง

สำหรับการเดินทางภายในเมืองออสโลนั้น ไม่ถือว่ายากลำบากนัก หากตั้งต้นจากสนามบิน Gardermoen ก็สามารถนั่งรถไฟตรงดิ่งมายังตัวเมืองที่สถานี Oslo Sentralstasjon ได้เลย โดยเลือกได้ระหว่างรถไฟธรรมดาของบริษัท NSB (92 โครนหรือ 380 บาท) และรถไฟด่วนพิเศษ Flytoget (180 โครนหรือ 750 บาท) ซื้อกับตู้จำหน่ายบัตรที่สนามบินหรือผ่านแอพ NSB จากนั้น เราสามารถซื้อตั๋วโดยสารสำหรับเดินทางด้วยรถไฟฟ้า, รถราง, รถเมล์ และเรือโดยสารภายในกรุงออสโลด้วยแอพ RuterBillett ซึ่งใช้งานง่ายและไม่ต้องต่อคิวที่ตู้จำหน่ายบัตรให้เสียเวลา และเนื่องจากตั๋วโดยสารคิดเป็นโซน ใช้ได้ 1 ชั่วโมง (หากข้ามโซน ก็บวกไปอีกโซนละครึ่งชั่วโมง) จึงเปลี่ยนต่อรถ/เรือได้อย่างอิสระ หากมั่นใจว่าจะเดินทางตั้งแต่สามเที่ยวขึ้นไปในหนึ่งวัน ก็แนะนำว่าซื้อเป็นตั๋ว 24 ชั่วโมงจะได้ประหยัดขึ้น ตรวจเช็คโซนได้จากเว็บ ruter.no

Vigelandparken

สถานที่แรกที่แนะนำว่าควรไปมากที่สุดในออสโล คือ สวนสาธารณะ Vigeland ที่เป็นสวนรูปปั้น (sculptural park) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดดเด่นไปด้วยผลงานรูปแกะสลักหินและรูปหล่อสำริดจำนวนมากกว่า 200 ชิ้นงาน ที่น่าทึ่งคือ ผลงานทั้งหมดนั้นสรรสร้างโดยศิลปิน Gustav Vigeland เพียงคนเดียว แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของตัวศิลปินเป็นอย่างมาก


รูปแกะสลักในสวนจะแสดงท่าทีที่หลากหลาย บางทีก็ตลกขบขัน บางทีก็เศร้าโศก

รูปแกะสลักในสวนสาธารณะจะแบ่งเป็นสามโซนหลัก ๆ ได้แก่ บริเวณสะพาน, น้ำพุ และเสาหินใจกลางสวน โดยรูปแกะสลักจะมีลักษณะ เลียนแบบท่าทางและอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์หลากหลายวัย ทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่ทารกจนถึงวัยชรา บ้างก็เป็นรูปแกะสลักเดี่ยว บ้างก็เป็นคู่ สามีภรรยา, ลูกกับพ่อแม่ หรือกลุ่มหลายคน หากสังเกตสีหน้าท่าทางอย่างใกล้ชิดจะเห็นถึงความเอาใจใส่ในรายละเอียดของศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้


รูปแกะสลักมีทั้งวัยเด็ก ผู้ใหญ่ และคนชราที่ดูเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

รูปปั้นที่โด่งดังที่สุด เห็นจะเป็นรูปปั้นเด็กโมโห (Angry Boy) ยืนร้องไห้แผลงฤทธิ์ ที่คนมาถ่ายรูปกันมากที่สุดในสวนแห่งนี้ บ้างก็เชื่อว่าได้จับมือแล้วจะนำโชค เลยจับจนรูปปั้นลอกให้เห็นเนื้อวัสดุสีทองเลยทีเดียว ทางผู้ดูแลจึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวไม่ให้จับเพื่อไม่เป็นการทำลายรูปทรงของรูปปั้นไปมากกว่านี้

รูปปั้นพ่อลูกที่ดูออกแนวขบขัน

เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวกว่าล้านคนมาเยี่ยมชมสวนแห่งนี้ต่อปี จึงอาจจะดูคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แต่ตัวสวนเองก็มีพื้นที่กว้างขวางบรรยากาศร่มรื่น แนะนำว่าเวลาที่เหมาะสำหรับมาเดินชมแบบเงียบ ๆ เป็นส่วนตัว จะเป็นช่วงเช้า ๆ พระอาทิตย์กำลังขึ้น คนจะบางตาเป็นพิเศษ

ที่ตั้ง: Nobels gate 32 นั่งรถเมล์สาย 20 หรือรถรางสาย 12 มาลงป้าย Vigelandsparken

เวลาเปิด-ปิด: เปิดตลอดเวลา

ราคาค่าเข้าชม: บริเวณสวนสาธารณะไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนพิพิธภัณฑ์ Vigeland ทางด้านทิศใต้ของสวน ที่รวบรวมประวัติ, ผลงานบางส่วนของศิลปิน Gustav Vigeland และนิทรรศการสัญจรนั้น ค่าเข้าชมอยู่ที่ 80 NOK นักศึกษา, ผู้สูงอายุเกิน 67 ปี และเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป เสียครึ่งราคา

[su_gmap width=”1600″ address=”Vigelandparken”][/su_gmap]

Royal Palace

หลังจากเดินชมนกชมไม้ ชมรูปปั้นในสวนสวยกันอย่างเต็มที่แล้ว สถานที่แนะนำต่อไปก็เป็นพระราชวัง ซึ่งตั้งอยู่ต้นถนนคนเดินสายใหญ่ Karl Johans Gate

พระราชวังแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก แต่ก็ดูเรียบง่าย ด้านทางเข้านั้น จะมีทหารองครักษ์ยืนเฝ้าประจำป้อมอยู่ และทุกชั่วโมงก็จะมีผลัดเปลี่ยนเวรกัน อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการแบบอังกฤษหรือไต้หวัน แต่ก็ดูเคร่งขรึมน่าเกรงขาม จากตรงนี้ เป็นจุดชมวิวที่ดี เพราะเมื่อมองลงไปแล้วจะเห็นสวน Slottsparken และถนน Karl Johan ได้ชัดเจน


ทหารองครักษ์ขณะผลัดเปลี่ยนเวร


ถนน Karl Johans Gate เมื่อมองลงไปจากบริเวณลานด้านหน้าพระราชวัง

เนื่องจากพระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับของราชวงศ์ จึงไม่ได้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมตลอดปี จะมีเพียงช่วงหน้าร้อน ปลายเดือนมิถุนายาจนถึงกลางเดือนสิงหาคม สำหรับปีนี้ คือช่วง 24 มิ.ย. – 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถชมห้องประทับรับรองอาคันตุกะ, ห้องทรงงาน, ห้องรับประทานอาหาร และโบสถ์น้อยสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์อีกด้วย


รูปปั้นกษัตริย์เฟรเดอริกที่ 5 (Frederik V) ทรงม้าบริเวณด้านหน้าพระราชวัง

ที่ตั้ง: Slottsplassen 1 มีรถเมล์หลายสาย และรถรางสาย 13, 19 ที่จอดป้าย Nationaltheatret จากนั้นก็เดินทะลุสวนสาธารณะ Slottsparken เข้าไปยังตัวพระราชวัง

เวลาเปิด-ปิด: สวนและจัตุรัส Slottplassen เปิดตลอดเวลาโดยไม่มีค่าเข้าชม
ส่วนพระราชวังจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ ปลายเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนสิงหาคม โดยจะเปิด วันจันทร์ – พฤหัสบดี 11.00 – 17.00 น., ศุกร์ 12.00 – 17.00 น. และวันหยุด 10.00 – 17.00 น. มีทัวร์พาชมเป็นภาษาอังกฤษทุกวัน 4 รอบ 12.00, 14.00, 14.20 และ 16.00 น.

ราคาค่าเข้าชมพระราชวัง: 135 NOK

[su_gmap width=”1600″ address=”Royal Palace oslo”][/su_gmap]

Akershus Fortress

ป้อมและปราสาท Akershus เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของนอร์เวย์ โดยตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังและติดกับทะเล มีทำเลที่ดี สามารถมองเห็นวิวของกรุงออสโลได้ชัดเจน ป้อมปราการแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ช่วงยุคกลาง ปลายศตวรรษที่ 13 และตลอดช่วงเวลา 7 ศตวรรษ ไม่เคยถูกข้าศึกต่างชาติบุกยึดไปได้เลย นอกจากตัวป้อมแล้วยังมีปราสาทที่ปลูกสร้างอยู่ภายในอาณาบริเวณ ทางกองทัพนอร์เวย์ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 20 และพื้นที่ส่วนหนึ่งก็เคยจัดให้เป็นคุกจองจำนักโทษอีกด้วย


ปราสาท Akershus ภายในป้อมสร้างด้วยหินตั้งแต่ปี 1299 และต่อเติมเพิ่มในปี 1592 และช่วง 1637-1648

เนื่องจากตัวป้อมปราการนั้นเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมือง จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของกรุงออสโล ในช่วงฤดูร้อน ก็จะมีกิจกรรมการแสดงหรือดนตรีคอนเสิร์ตให้ได้ชมอีกด้วย อย่างวันที่ผมไปเที่ยว ก็มีละครเวทีพร้อมกับวงดนตรีวงใหญ่ในสวน มีผู้ชมร้อยกว่าคนเลย ดูครึกครื้นดี


ช่วงหน้าร้อนบริเวณป้อมปราการจะมีการจัดแสดงละครและกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ ให้ได้ชม

นอกจากปราสาท Akershus (ค่าเข้าชม 100 NOK) แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ของกองทัพสองแห่ง คือ พิพิธภัณฑ์กองทัพ (Forsvarsmuseet – เข้าชมฟรี) และพิพิธภัณฑ์สมรภูมิรบนอร์เวย์ (Norges Hjemmefrontmuseum – ค่าเข้าชม 60 NOK) หากต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางการทหารและการรบของประเทศนอร์เวย์


วิวท่าเรือมุมกว้างจากป้อม Akershus

ที่ตั้ง: Akershus Festning เดินเลียบกำแพงป้อมตามถนน Kongens gate หรือตรงสิ้นสุดถนนสาย Myntgata อาคารประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวสีแดงตั้งอยู่ที่พิกัด 59.908467, 10.737506

เวลาเปิด-ปิด: ประตูหลักเปิด 06.00 – 21.00 น. ส่วนประตูด้านข้างเปิดสายหน่อยช่วงฤดูร้อน (1 พ.ค. – 31 ก.ย.) คือเวลา 07.00 ในวันธรรมดา และวันหยุดเปิด 08.00 น. และปิดเร็วในฤดูหนาว (1 ต.ค. – 30 เม.ย.) เวลา 18.00 น. ส่วนปราสาท Akershus Slott จะปิดซ่อมปรับปรุงตั้งแต่กันยายน 2017 – 1 กันยายน 2018

ป้อมปราการไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

[su_gmap width=”1600″ address=”Akershus Fortress”][/su_gmap]

Operahuset

เมื่อเรามาถึงกรุงออสโลทั้งที ก็ต้องแวะไปเยี่ยมชมโรงอุปรากรที่เป็นสถาปัตยกรรมแนวโมเดิร์นและเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเมืองให้ได้สักครั้ง ที่ออสโลนี้ Opera house ก็สวยเรียบสไตล์สแกนดิเนเวีย และมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายภาพเยอะเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน แต่ที่แนะนำเป็นลำดับสุดท้ายในลิสต์นี้ เพราะตอนนี้ บริเวณโดยรอบกำลังมีการก่อสร้างหอสมุดแห่งชาติแห่งใหม่ และโครงการก่อสร้างอื่น ๆ อยู่ ทำให้บรรยากาศดูเต็มไปด้วยเครนยกและพื้นที่ถนนบางส่วนปิดกั้น ดูรกรุงรังเล็กน้อย


ช่วงปีนี้ ยังคงมีโครงการก่อสร้างรอบข้าง Operahuset

ภายนอกตัวอาคารของ Operahuset นั้นมีลักษณะลาดลงเสมือนโผล่ขึ้นมาจากน้ำ ทำจากหินอ่อนอิตาลี (รวยจริงรวยจัง เพราะงบก่อสร้างอยู่ที่ 4.4 พันล้าน NOK หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท) โดยบริษัท Snøhetta ชนะการประกวดออกแบบ ใช้เวลาสี่ปีในการสร้าง เปิดตัวเมื่อปี 2008 ซึ่งปีหน้าก็จะฉลองครบรอบ 10 ปีแล้ว

ส่วนภายในนั้น โถงกลางโดยรอบติดกระจกสั่งทำพิเศษเพื่อให้เห็นวิวน้ำภายนอกได้ชัดเจน ส่วนด้านในที่เป็น auditorium ก็ใช้ไม้โอ๊คเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดูอบอุ่นตัดกันกับสีเย็น ๆ ของตัวอาคารภายนอก และมีศิลปินอีกหลายท่านที่ได้รับหน้าที่ออกแบบตกแต่งภายใน เช่น Ólafur Elíasson ที่ออกแบบผนังกรุประดับไฟสีส่องจากด้านล่าง ดูเหมือนน้ำแข็งละลาย เป็นต้น


ภายในอาคารประดับด้วยไม้โอ๊ค


ผนังกรุประดับแสง ผลงานตกแต่งภายในของ Ólafur Elíasson

เมื่อเราเดินขึ้นไปทางหลังคาด้านบน (ไม่ควรเดินหากเห็นพื้นเปียกหรือฝนตก เพราะจะลื่นและเป็นอันตรายมาก) จะเห็นวิวฟยอร์ดของออสโลที่สวยงาม และจะสังเกตเห็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าด้วย ผลงาน She Lies ชิ้นนี้ทำจากแผ่นแก้วหลายชิ้นผสมกับเหล็กสแตนเลส ออกแบบโดย Monica Bonvicini ซึ่งจะหมุนไปมาตามกระแสลมและคลื่นรอบข้าง ทำให้แสงที่ตกกระทบตัวผลงานจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดูไปแล้วเหมือนก้อนภูเขาหิมะที่กำลังละลายลอยมาขึ้นฝั่งที่ออสโล


หลังคาด้านบนสามารถมองเห็นวิวมุมกว้างของกรุงออสโล


ผลงาน She Lies ของศิลปิน Monica Bonvicini บริเวณด้านหน้า Operahuset

ที่ตั้ง: Kirsten Flagstads Plass 1 เดินจากสถานี Oslo Sentrum มาที่ถนน Operagata

เวลาเปิด-ปิด: จันทร์ – ศุกร์ 10.00 – 19.00 น., เสาร์ 11.00 – 18.00 น. และอาทิตย์ 12.00 – 18.00 น.

[su_gmap width=”1600″ address=”Operahuset oslo”][/su_gmap]

รู้จักนอร์เวย์อีกซักหน่อย

ในส่วนของภาษานั้น ภาษานอร์วีเจียนจะมีสองรูปแบบคือ บอคมอล (Bokmål) ที่มีความคล้ายคลึงกับภาษาเดนิช ทั้งนี้เพราะนอร์เวย์เคยตกอยู่ในอาณัติของเดนมาร์กช่วงศตวรรษที่ 16-19 และ นือนอร์ส (Nynorsk – New Norwegian) ที่ถูกพัฒนาต่อจาก Old และ Middle Norwegian ที่เสื่อมความนิยมไปในช่วงศตวรรษที่ 16 โดยปัจจุบัน New Norwegian นั้นใช้กันในหมู่ประชากรราว 12% และเพื่อเพิ่มความสับสนเข้าไปอีกขั้น ประเทศนอร์เวย์นั้นมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ทอดยาวและคอดทางตอนกลาง แถมยังมีเกาะน้อยใหญ่จำนวนมาก ทำให้มีหมู่บ้านและเมืองที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครองอยู่มาก จึงมีสำเนียงท้องถิ่น (dialect) ที่แตกต่างจากภาษากลางอยู่จำนวนมาก

เราจะเห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนที่สุดในวันชาติหรือวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ที่จะมีขบวนแห่พาเหรดชุดประจำท้องถิ่นพร้อมโบกสะบัดธงนอร์เวย์กันอย่างยิ่งใหญ่ทั่วทุกเมืองทั้งประเทศ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวันเดียวที่เราจะได้เห็นคนนอร์เวย์เฮฮากันตามท้องถนนอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าร้านค้าและหน่วยราชการต่าง ๆ ก็จะปิดทำการในวันนี้ จึงอาจจะต้องวางแผนกันสักหน่อย หากจะไปเที่ยวนอร์เวย์ในช่วงวันชาติ

Viroj currently works as a researcher within international economics at Lund University in Southern Sweden. A traveller with a burning passion for photography, he mainly takes photos with his medium-format digital camera, and now tries to limit his travel plans (with no success) to save up for a wide-angled lens. Viroj has a blond labrador retriever named Molly, who loves swimming at the beach near his home in Copenhagen, Denmark.

Magazine made for you.