จาก ‘เจมส์ ดีน’ สู่ ‘ลาลาแลนด์’ Griffith Observatory หอดูดาวแห่งนครดาราของฮอลลีวูด

มีภาพยนตร์และซีรีย์โทรทัศน์มากกว่า 300 เรื่องที่ใช้หอดูดาว Griffith Observatory เป็นฉากในเรื่อง แต่เรื่องล่าสุดที่ทำให้ทุกคนจดจำหอดูดาวแห่งนี้ได้แบบประทับใจไม่มีวันลืม คงต้องยกให้ La La Land ภาพยนตร์กระแสแรงเรื่องล่าสุด ที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณเมืองมายาอย่างลอสแอนเจลิสออกมาโดนใจใครหลายคน

La La Land ทำให้ผู้ชมทั่วโลกกลับมาสนใจหอดูดาวแห่งนี้อีกครั้ง เหมือนกับคราวที่ Rebel Without a Cause หนังเจมส์ ดีนซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้ Griffith Observatory เป็นสถานที่ถ่ายทำเมื่อปี 1955 เคยปลุกกระแสให้แฟนหนังเดินทางมาเยือนจนหอดูดาวแห่งนี้ถูกบันทึกสถิติไว้ว่าเป็นหอดูดาวที่มีคนมาเยือนมากที่สุดในโลก และกลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดและเมืองลอสแอนเจลิส

ผู้ชมหลายคนคงจำฉากประทับใจใน La La Land ที่เซบาสเตียน (ไรอัน กอสลิง) และมีอา (เอ็มม่า สโตน) ลอยขึ้นไปเต้นรำกันบนอวกาศได้ ฉากนี้เกิดขึ้นที่ Samuel Oschin Planetarium ท้องฟ้าจำลองแห่งเดียวกับฉากใน Rebel Without a Cause ที่เจมส์ ดีนเคยแสดงเอาไว้เมื่อ 62 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นท้องฟ้าจำลองที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และนี่น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดตัวตนของ Griffith Observatory ออกมาได้ดีเยี่ยมและน่าจดจำมากที่สุดอีกเรื่อง

อีกหนึ่งฉากสำคัญที่ถ่ายทำกันที่ Griffith Park ในบริเวณเดียวกัน คือฉากเต้นรำที่กลายมาเป็นภาพจำบนทุกหน้าหนัง ซึ่งดูเหมือนเป็นฉากแสดงการคารวะต่อผลงานหนังเพลงคลาสสิกอย่าง Shall We Dance (1937) และ The Band Wagon (1953)

“If all mankind could look through that telescope, it would change the world!”

ประโยคดังของกริฟฟิธ เจ. กริฟฟิธ เจ้าของผู้ให้กำเนิดหอดูดาวกริฟฟิธ คือต้นความคิดที่บันดาลใจให้มหาเศรษฐีคนนี้สร้างหอดูดาวขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นจักรวาลบ้าง เขากล่าวประโยคนี้ขึ้นในวันที่เขาได้ไปดูดาวบนท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 60 นิ้ว ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาวิลสันเมื่อปี 1908 ซึ่งเป็นปีที่กล้องดูดาวนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์และถูกบันทึกไว้ว่าเป็นกล้องดูดาวที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น หลังจากคืนนั้นเองแนวความคิดในการสร้าง Griffith Observatory ของเขาก็ผุดขึ้นมา

Griffith Observatory สร้างเสร็จและเปิดบริการครั้งแรกในปี 1935 หอดูดาวแห่งนี้ตั้งอยู่บนเชิงเขาฝั่งซ้ายของภูเขาฮอลลีวูดในพื้นที่ของ Griffith Park ที่กินอาณาเขตกว่า 12 ตารางกิโลเมตร ณ จุดนี้สามารถมองเห็นวิวในมุมสูงของเมืองลอสแอนเจลิสได้ตลอดทั้งเมืองไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิคกริฟฟิธ เจ. กริฟฟิธ ได้บริจาคพื้นที่ทั้งหมดนี้ให้กับเมืองลอสแอนเจลิสเป็นผู้ดูแลในปี 1896

ความคิดที่จะสร้างหอดูดาวของเขาผุดขึ้นในปี 1908 ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่กว่าจะได้เริ่มก่อสร้างก็ปาเข้าไปปี 1919 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่กริฟฟิธ เจ. กริฟฟิธ เสียชีวิตลง

ความตั้งใจของเขาคือการจะมอบหอดูดาวแห่งนี้เป็นของขวัญให้กับเมืองลอสแอนเจลิสโดยยกให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นคนดูแล และเปิดเป็นสาธารณะโดยไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใดนับตั้งแต่วันแรกที่เปิดบริการมาจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นโซนท้องฟ้าจำลอง) หลังจากเปิดบริการในปี 1935 หอดูดาวแห่งนี้ก็ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เพียงหนเดียวในปี 2002 และกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในปี 2006 ด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัยแต่ก็ยังคงเอกลักษณ์คลาสสิกไว้ดังเดิมทุกประการ

กระแส Griffith Observatory กลับมาแรงอีกครั้งถึงขั้นคว้ารางวัลชนะเลิศการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยว Time Out Love Los Angeles Awards 2016 โดยสื่อดังอย่าง Time Out กันเลยทีเดียว นอกจากนิทรรศการเกี่ยวกับดวงดาวและอวกาศที่ให้ความรู้ในระดับดีเยี่ยมแล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจภายในหอดูดาวแห่งนี้ก็คือจิตรกรรมฝาผนังคลาสสิกซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะด้วยเช่นกัน

จิตรกรรมฝาผนังนี้อยู่ในบริเวณโถงต้อนรับ W.M. Keck Foundation Central Rotunda จุดถ่ายทำที่เป็นอีกหนึ่งฉากจำจาก La La Land

มันถูกวาดขึ้นในปี 1934 ตรงเพดานเหนือนิทรรศการ Foucault Pendulum แบบจำลองสาธิตการหมุนของโลกซึ่งถือเป็นนิทรรศการถาวรอันเป็นสมบัติล้ำค่าทางประวัติศาสตร์เช่นกัน โดยจัดแสดงตั้งแต่แรกเปิดจนถึงปัจจุบัน จิตรกรรมฝาผนังนี้วาดโดยฮิวโก แบลลิน ศิลปินชาวอเมริกันผู้เป็นทั้งจิตรกร นักประพันธ์ ตลอดจนผู้กำกับภาพยนตร์ โดยเขาได้วาดภาพตำนานเทพ 12 ราศี ไว้บนเพดาน และเหนือผนังทั้ง 8 ด้านโดยรอบเป็นภาพวาดชุด Advancement of Science from Remote Periods to Present Times สื่อถึงวิทยาการในยุคต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้

สำหรับฮิวโก แบลลิน เองเป็นศิลปินจิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นอย่างมาก เขายังฝากผลงานคลาสสิกลักษณะนี้ไว้ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองลอสแอนเจลิสอีกมากมาย เช่น Wilshire Boulevard Temple, Los Angeles Times Building, และ Los Angeles City Hall Council Chambers เป็นต้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เอมม่า สโตนกับไรอัน กอสลิงมาหอดูดาวแห่งนี้ด้วยกัน พวกเขาเคยรับบทคู่รักและเคยนัดพบกันที่นี่มาแล้วใน Gangster Squad (2013) หนังมาเฟียย้อนยุคที่นักแสดงทั้งสองร่วมงานกันเป็นครั้งแรก แม้ฉากนี้ถูกตัดออกไปจากเรื่องหลัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าหอดูดาวแห่งนี้มักจะถูกใช้สะท้อนวิถีชีวิตชาวลอสแอนเจลิสในทุกยุคทุกสมัย Griffith Observatory ยังเคยปรากฏในหนังดังมากมายอย่างเช่น The Terminator, Star Trek Voyager, Charlie’s Angels, Yesman, Gangster Squad หรือแม้แต่ Transformer

The Terminator (1984)

Transformers (2007)

Yes Man (2008)

แต่ภาพยนตร์ที่ประทับอยู่ในความทรงจำคอหนังจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของหอดูดาวแห่งนี้ไปแล้ว คือ Rebel Without a Cause ภาพยนตร์เรื่องแรกสุดที่ถ่ายทำที่นี่ซึ่งออกฉายในปี 1955 ซึ่งนำแสดงโดยเจมส์ ดีน และนาตาลี วูด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็น 1 ใน 3 หนังอมตะที่เจมส์ ดีนรับบทนำจนทำให้เขาดังเป็นพลุแตก ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเดือนกันยายนในปีเดียวกันกับที่เขาเริ่มดัง (ปี 1955) ด้วยวัยเพียง 24 ปี

Rebel Without a Cause ทำให้หอดูดาวกริฟฟิธเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่เพียงเฉพาะชาวอเมริกันแต่โด่งดังไปทั่วโลก ความทรงจำอันมีคุณค่านี้ทำให้หอดูดาวกริฟฟิธเชิดชูเกียรติเจมส์ ดีน ด้วยการสร้างอนุสรณ์รำลึกถึงเขา โดยนำผลงานประติมากรรมฝีมือของเคนเนธ เคนดัลล์ ศิลปินที่เจมส์ ดีนเคยอยากให้ปั้นรูปตัวเขาให้ ในคราวที่เขาแวะไปสตูดิโอของเคนดัลล์แล้วได้ไปเห็นรูปปั้นของมาร์ลอน แบรนโด นักแสดงรุ่นพี่ผู้ที่คนยุคหลังรู้จักในบทบาทของ The Godfather นั่นเอง

หลังจากอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้น เคนดัลล์จึงเริ่มลงมือปั้นรูปเหมือนเจมส์ ดีนในวันแรกที่เขาเสียชีวิต แต่กว่ารูปปั้นนี้จะถูกนำมาตั้งที่หอดูดาวกริฟฟิธก็ปาเข้าไป 10 กว่าปีหลังจากนั้น ช่วงแรกรูปปั้นเจมส์ ดีนถูกนำมาตั้งไว้ที่สนามหญ้าฝั่งตะวันตก ก่อนที่จะถูกย้ายมายังตำแหน่งปัจจุบันที่เรียกว่า Rebel Without a Cause Monument บริเวณระเบียงริมผาฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นจุดชมวิวป้าย HOLLYWOOD ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของแอลเอ ทำให้ Griffith Observatory ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งนครดารา ที่เรียกได้ว่าใครอยากมาเที่ยวแอลเอสัมผัสบรรยากาศฮอลลีวูดให้สมบูรณ์แบบก็ควรต้องแวะมาสักครั้ง

นักเดินทางที่เป็นทั้งนักเขียนและช่างภาพในตัว เขียนงานให้กับสื่อต่างๆ ในเมืองไทยมากมายตั้งแต่สารคดีหนักๆ, บทสัมภาษณ์, ไปจนถึงเรื่องดีไซน์และแฟชั่น แต่ผลงานที่โดดเด่นเห็นจะเป็นบทความด้าน Food & Travel ที่เขียนถึงทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เขาหลงรักอย่างญี่ปุ่น

Magazine made for you.