คุยกับหมออีม “หญิงไทยคนแรก” ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ | CC INTERVIEW

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธงชาติไทยและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ขึ้นไปโบกสะบัดอยู่บนความสูง 8,848 เมตรของยอดเขาเอเวอร์เรสต์อีกครั้ง พร้อมกับความสำเร็จของหมออีม ทันตแพทย์หญิง นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ “ผู้หญิงไทยคนแรก” ที่ได้พิชิตความฝันของตนเอง ในการขึ้นไปยืนบนจุดที่สูงที่สุดในโลก

เรามาทำความรู้จักกับหมออีมกันว่า อะไรคือแรงบันดาลใจที่เป็นพลังให้เธอสามารถทำความฝันอันยิ่งใหญ่ให้เป็นจริงได้ และการเดินทางอันยาวนานครั้งนี้มีเรื่องราวอย่างไรบ้าง

หญิงไทยคนแรก

Q: ความสุขที่คุณหมออีมได้จากการปีนเขาคืออะไร ?

A: สำหรับอีม การปีนเขาเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับธรรมชาติ ได้เคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับธรรมชาติ เป็นความรู้สึกที่ไม่เคยได้จากที่ไหน แต่เราได้จากภูเขา ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงมีความสุข เพราะทุกครั้งที่ไปก็ลำบาก เหนื่อย ทรมานทุกครั้ง แต่เราก็ยังคอยคิดถึงว่าเมื่อไหร่จะได้กลับไปปีนเขาอีก ความสุขที่ได้รับจากภูเขามันความสุขง่ายๆ ตรงไปตรงมา ไม่ได้รับการปรุงแต่งเหมือนความสุขที่เราได้จากชีวิตในเมืองทุกวันนี้

20160406_101301

20160419_092751

Q: ทำไมคุณหมออีมถึงเริ่มปีนเขา ?

A: พอได้เริ่มออกไปเที่ยว ได้ออกไปเห็นโลกภายนอก เราก็รู้สึกว่าข้างนอกมันมีอะไรอีกเยอะแยะเลยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แรกๆ อีมก็เที่ยวธรรมดาเหมือนทุกคนทั่วไป จนมีโอกาสได้ไปปีนเขาลูกแรกที่คินาบาลู ประเทศมาเลเซีย (ความสูง 4,096 เมตร) แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นความยากอย่างหนึ่งที่เราทำได้ มันเลยเป็นความท้าทายให้เราอยากทำมากขึ้นอีก

20160419_140932

“ความสุขที่ได้รับจากภูเขามันความสุขง่ายๆ ตรงไปตรงมา ไม่ได้รับการปรุงแต่งเหมือนความสุขที่เราได้จากชีวิตในเมืองทุกวันนี้”

20160423_084104

Q: ทำไมเอเวอร์เรสต์ถึงเป็นความฝันของคุณหมออีม ?

A: ตอนแรกไม่กล้าคิด ไม่กล้าจะยอมรับด้วยซ้ำว่าเราฝันถึงเอเวอร์เรสต์ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราแอบฝันถึงมันมาตลอด เพราะมันดูห่างไกลและยิ่งใหญ่เกินไป แต่มีวันนึงอีมได้ดูคลิปสัมภาษณ์พี่หนึ่ง วิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่ปีนยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จ ได้เห็นภาพที่พี่หนึ่งขึ้นไปร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่บนนั้น ด้วยความที่เราผูกพันกับภูเขาอยู่แล้ว ภาพนั้นเลยกระแทกใจเรามาก มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก ดูไปร้องไห้ไป

เหตุการณ์นั้นเหมือนพี่หนึ่งได้มอบเมล็ดพันธุ์ให้เรามาเมล็ดนึง แล้วเราก็เอามาปลูก ค่อยๆ รดน้ำดูแลมันอย่างเงียบๆ แบบไม่ได้เฝ้าดูมันเท่าไหร่ จนวันนึงมันพร้อมที่จะผลิดอกออกผล หลังจากเราได้สั่งสมประสบการณ์การปีนเขามาแล้ว ไปปีนเขาทุกปี วันนึงเราก็รู้สึกเองว่าเราพร้อมแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราจะยอมรับว่าเอเวอร์เรสต์เป็นความฝัน และเราจะทำมันให้ได้

20160421_102122

Q: ก่อนจะปีนเขาต้องรู้อะไรบ้าง ?

A: ต้องศึกษาข้อมูลสภาพเส้นทาง ว่าสิ่งที่เราจะต้องไปเจอมีอะไรบ้าง ต้องรู้จักร่างกายตนเองว่าพร้อมจะไปเจอสิ่งเหล่านั้นมั๊ย ควรสั่งสมประสบการณ์จากภูเขาลูกเตี้ยๆ ก่อน แล้วขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องเอาตัวไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ให้ร่างกายเราได้เรียนรู้เองเพราะเราไม่สามารถคิดเอาเองได้ว่าเราจะไปเจออะไรบ้าง ก่อนจะขึ้นเอเวอร์เรสต์อีมเคยปีนเขามา 7 ลูก เริ่มจากคินาบาลูที่มาเลเซียเป็นลูกแรก หลังจากนั้นก็ที่จีน 2 ลูกประมาณ 5,000 เมตรและที่เนปาลอีก 4 ลูกที่ระดับความสูงมากกว่า 6,000 เมตร

20160427_094514

20160427_101433

การเตรียมพร้อมทางร่ายกายเป็นเรื่องสำคัญมาก ร่างกายเราต้องพร้อมที่สุด เพราะสภาพบนนั้นมันยากลำบากเกินขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์ จึงต้องเตรียมให้พร้อมกว่าปกติ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่มีทางรู้ได้อยู่ดีว่าจุดไหนที่เรียกว่าร่างกายเราแข็งแรงพอ คนที่คิดว่าเตรียมมาพร้อมไปถึงจริงๆ แล้วไม่ไหวก็มี อย่างอาการแพ้ความสูง (AMS) ก็คาดเดาไม่ได้ว่าใครจะเป็น เรียกว่าแล้วแต่ดวงก็ได้ แต่เราก็ต้องเรียนรู้วิธีรับมืออาการเพื่อป้องกันด้วย

20160430_110134

Q: เวลาปีนเขาต้องมีอะไรติดตัวขึ้นไปบ้าง ?

A: อย่างแรกเลยคืออุปกรณ์กันหนาวทั้งหลายที่ต้องเตรียมไปให้พอ แล้วก็อุปกรณ์ปีนเขา ซึ่งหลักๆ จะเป็น summit suit ที่สามารถกันอุณหภูมิได้ถึง -40 องศา climbing boots แล้วก็ crampons รองเท้าตะปูสำหรับน้ำแข็งที่จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่ EBC ขึ้นไป แล้วก็ขวานน้ำแข็งกับเข็มขัดนิรภัยที่ต้องติดตัวอยู่ตลอดเวลา

20160402_091513

20160502_074353

20160504_100650

20160505_085717

นอกจากนั้นก็จะมียารักษาโรคและอาหารที่เราต้องเตรียมไปเองสำหรับตั้งแต่ช่วง camp 3 ขึ้นไป ส่วนใหญ่คนจะเตรียม high energy food แบบซองกันไปเพราะต้มแล้วกินได้เลย แต่เราคนไทยก็มีติดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปด้วย แต่บอกเลยว่าเอาไม่อยู่ ช่วง summit push กินไป 2 ห่อยังรู้สึกเลยว่าพลังงานไม่พอ

20160514_133226

20160518_125647

สุดท้ายที่ขาดไม่ได้อุปกรณ์บันทึกความทรงจำ แต่ก็ต้องระวังเพราะบนพื้นที่สูงๆ ที่อากาศเย็นจัดๆ กล้องบางตัวจะใช้การไม่ได้ อีมพกกล้องติดตัวไป 3 แบบ เป็น กล้อง compact กับ action camera แล้วก็กล้องมือถือ แต่ 2 ตัวแรกน็อคตั้งแต่เพิ่งเริ่มปีนเขา เหลือแต่ Samsung S7 ที่ใช้ได้ ซึ่งแปลกใจมาก เพราะก่อนหน้านี้เวลาเอามือถือเก่าไปปีนเขาด้วย พอเลย 4,000 เมตรขึ้นมา เริ่มหนาวมากๆ เครื่องก็จะเริ่มรวนจนใช้ไม่ได้ แต่ S7 เป็นกล้องเดียวที่อีมใช้ได้บนยอดเอเวอร์เรสต์ความสูงกว่า 8,000 เมตร

20160519_102949

Q: แผนการปีนเอเวอร์เรสต์ในครั้งนี้มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ?

A: ขั้นตอนการปีนยอดเขาเอเวอร์เรสต์ของอีมครั้งนี้ใช้เวลาประมาณเกือบ 2 เดือน โดยเริ่มด้วยการมาปรับตัวในพื้นที่ใกล้เคียงก่อน ขึ้นเขาลูกเล็กที่ความสูง 5,000-6,000 เมตร เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงเป็นช่วงเวลาการปีนเอเวอร์เรสต์ จาก EBC ขึ้นไปถึงยอดเขาอีกประมาณ 32 วัน

20160423_154447

20160516_093405

EBC (Everest Base Camp) คือจุดเริ่มต้นที่เปรียบเสมือนบ้านของนักปีนเขาทุกคน พอมาถึงเราก็จะพักที่ EBC กัน 5 วันเพื่อปรับร่างกาย (acclimatization) ก่อนเริ่มปีน ซึ่งการปีนจะแบ่งออกเป็นช่วง 3 รอบ รอบแรกจะเรียกว่า first rotation รอบที่สองจะเรียกว่า second rotation และรอบสุดท้ายคือการพิชิตยอดเขา หรือ summit push

20160426_104925

20160504_104806

“ตอนแรกไม่กล้าคิด ไม่กล้าจะยอมรับด้วยซ้ำว่าเราฝันถึงเอเวอร์เรสต์ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราแอบฝันถึงมันมาตลอด”

20160506_081134

20160427_170359

20160428_075910

first rotation คือการเดินรอบแรกจาก EBC ขึ้นไปที่ camp 2 แล้วกลับลงมาที่ EBC เพื่อพักก่อนเริ่มรอบใหม่ ส่วน second rotation รอบที่สอง คือการเดินจาก EBC ขึ้นไป camp 3 แล้วกลับลงมาพักที่ EBC ก่อนลงไปพักที่เมืองรินโปเชด้านล่างที่อยู่ต่ำลงไป 1,000 เมตรอีก 5 วัน เพื่อรับอ๊อกซิเจนให้ร่างกายฟื้นฟูอย่างเต็มที่ ให้พร้อมสำหรับการปีน summit push รอบสุดท้าย

20160518_101813

20160518_134601

20160518_135221

summit push คือการรอบพิชิตยอดเขา ซึ่งจะเริ่มจาก EBC ไล่ขึ้นไป camp 1-4 ตามลำดับ เราไปถึงจุดหมาย camp 4 ตอน 4 โมงเย็น ซึ่งวันสุดท้ายก่อนขึ้นยอดเป็นวันที่ไม่ได้นอนเลย เพราะต้องออกเดินทางสู่ยอดเขาต่อเลยตอน 2 ทุ่มเพื่อให้ขึ้นไปถึงพอดีช่วงเช้า

20160518_171435

“เวลาเกือบ 2 เดือนที่ใช้ในการปีนเขาครั้งนี้และประสบการณ์หลายปีที่สั่งสมมา ทั้งหมดเพื่อ 20 นาทีบนยอดเขาในวันพรุ่งนี้เท่านั้น”

20160518_193008

Q: ประสบการณ์กับเพื่อนร่วมทางครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

A: ในกรุ๊ปเราจะมีอยู่ทั้งหมด 9 คนรวมอีม จะมีป๋าคมรัตน์ พิชิตเดชเป็นคนไทยอีกคนที่ไปด้วยกัน และมีซีฟ ฮาร์สตัดเป็นผู้หญิงชาวนอร์เวย์ทั้งหมด 3 คนที่เป็น climber แล้วก็จะมีทีมเชอร์ปา 3 คนประจำตัว climber แต่ละคน มีพ่อครัว 1 คนกับ Base Camp Manager อีก 1 คน ประจำอยู่ที่ EBC แล้วก็มี kitchen boy ที่จะตามเราขึ้นไปถึง camp 2 เพื่อทำอาหารให้เรา ตลอดระยะเวลาเดือนกว่าทุกคนจะใช้เวลาร่วมกันที่ EBC เป็นส่วนใหญ่ แต่เวลาเดินจะแยกกัน

20160428_170956

20160426_123222

20160430_134354

ระหว่างการปีนรอบ summit push ช่วง camp 2 ป๋าคมรัตน์ต้องตัดสินใจหยุดปีน เพราะป๋าเริ่มมีปัญหาที่ปอดมาตั้งแต่ first rotation หายใจลำบาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำให้ไม่มีแรง ยิ่งพอขึ้นไปสูงๆ ร่างกายยิ่งฟื้นตัวไม่ได้เลย

20160506_160754

หลังจากสู้เต็มที่แล้วป๋าเลยตัดสินใจหันหลังกลับลงไปที่ EBC ซึ่งกว่าเราจะรู้เราก็ขึ้นมาถึง camp 3 แล้ว จากเต๊นท์ที่เคยอยู่ด้วยกัน 2 คนแคบๆ วันนั้นไม่มีป๋าแล้วมันกว้างมากๆ หันไปก็มีแต่เราคนเดียว ใจนึงก็ดีใจที่ป๋าตัดสินใจไม่ไปต่อเพราะเป็นห่วง แต่ก็รู้สึกแย่เพราะสู้ด้วยกันมายาวนานมาก ตั้งแต่ก่อนจะปีนเสียอีก แต่ป๋าก็ทำดีที่สุดแล้ว ก็คุยกันทางวิทยุบอกป๋าว่าจะนำฝันป๋าขึ้นไปด้วย แล้วเราจะกลับบ้านไปด้วยกัน เพราะภารกิจสำคัญอันดับหนึ่งของพวกเราคือการกลับบ้านอย่างปลอดภัย ภูเขายังอยู่ตรงนั้นเรากลับไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ชีวิตเรามีชีวิตเดียว

20160506_170054

“ภารกิจสำคัญอันดับหนึ่งของพวกเราคือการกลับบ้านอย่างปลอดภัย ภูเขายังอยู่ตรงนั้น เรากลับไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ชีวิตเรามีชีวิตเดียว”

20160508_095024

ส่วนซีฟขึ้นไปถึงยอดด้วยกัน แต่ขาลงซีฟมีอาการตาบอดชั่วคราว ทำให้ไม่สามารถลงมาได้ ต้องพักอยู่ที่ camp 4 ต่ออีกคืนโดยที่เรากลับลงมาก่อน ถึงแม้จะไม่ค่อยได้คุยกันมากนัก แต่เราก็รู้สึกเป็นห่วงเค้าเพราะอยู่ด้วยกันมานาน และท้ายที่สุดทุกคนก็กลับลงมาถึง EBC อย่างปลอดภัย

20160506_171141

20160506_183236

20160507_175857

Q: คิดว่าการเป็นผู้หญิงมีผลต่อการปีนเขามั๊ย ?

A:ในแง่ความแตกต่างทางเพศ สำหรับอีมคิดว่าไม่ต่างกัน อย่างโรคแพ้ความสูงยังเกิดขึ้นได้กับใครก็ได้ เพศไหนแข็งแรงกว่าอีมคิดว่าไม่เกี่ยว ร่างกายก็สำคัญแต่จิตใจก็สำคัญ ในครั้งนี้นอกจากอีมกับซิฟ ก็ยังมีนักปีนเขาหญิงชาวจีนและอินเดียด้วยหลายคน แต่ถ้าเทียบกับปริมาณนักปีนเขาผู้ชายก็ยังถือว่าน้อยอยู่มาก

20160518_125700

20160519_103033

Q: ความรู้สึกบนจุดที่สูงที่สุดของโลกเป็นอย่างไร ?

A: อีมขึ้นไปถึงยอดตอน 9.45 ตามเวลาที่นั่น หลังปีนจาก camp 4 มา 13 ชั่วโมง ตอนขึ้นไปถึงความรู้สึกมันไม่เหมือนที่เราคิดเลย ก่อนหน้าเราคิดว่าเราจะต้องรู้สึกยิ่งใหญ่ รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่เราทำฝันอันสูงสุดสำเร็จ แต่พอเราขึ้นไปถึงกลายเป็นเรารู้สึกว่า “แค่นี้เองเหรอ ?” บนนี้มันไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าข้างล่างเลย มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกยิ่งใหญ่เลย มันกลับทำให้เรารู้สึกตัวเล็กลงมากๆ แต่เราก็รู้สึกภูมิใจที่ได้นำธงชาติไทยและพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นมาบนนี้ได้สำเร็จ

20160519_095312_006

ก่อนหน้ามีจุดนึงที่เราเหนื่อยมาก เหนื่อยจนทนไม่ไหว มันทรมานจนอยากกลับลงไปแล้ว ถ้าเรามาเพราะฝันเราคนเดียวเราคงกลับลงไปแล้ว ตรงจุดนั้นพลังฝันมันหมดแล้ว แต่พอเราคิดถึงในหลวง คิดถึงธงชาติไทยที่เรานำติดตัวมา เราก็ท่องอยู่ในใจทุกก้าวที่เราเดิน ว่าเราทำเพื่ออะไร มันไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราแล้ว ความเป็นตัวเรามันค่อยๆ ละลายหายไปเรื่อยๆ จนพอขึ้นไปถึงบนนั้น มันไม่เหลือตัวเราอีกแล้ว เราแค่ทำภารกิจเสร็จสิ้น ไม่มีตัวเราบนนั้น

ที่จริงแล้วทิวทัศน์ข้างบนมันสวยมาก แต่ตอนนั้นการรับรู้ของเรามันไม่ลึกซึ้งเท่าตอนสภาพร่างกายปกติ เราใช้พลังไปหมดแล้ว สภาพร่างกายแย่มากจนเราไม่ได้สนใจสิ่งรอบข้างแล้ว เรามองลงไปเราเห็นว่ามันสวยมาก มันอยู่สูงที่สุด อยู่เหนือทุกสิ่ง เรามองลงไปเราเห็นทุกอย่าง ไม่มีอะไรอยู่เหนือเราอีกแล้ว เรามองเห็นภูเขาลูกอื่นๆ ที่เราเคยปีน แต่จุดนั้นเราไม่ได้ซาบซึ้งกับมันแล้ว มันเลยขีดจำกัดจะชื่นชมความสวยงามไปแล้ว

20160519_103025

20160519_100817

20160519_100855

20160523_113042

20160523_131138

Q: หลังจากนี้มีเป้าหมายในอนาคตต่อไปอย่างไรบ้าง ?

A: เราก็ยังรักในภูเขาอยู่ ยังอยากปีนเขาอยู่ ยังมีภูเขาอีกหลายลูกมันไม่ได้จบแค่เอเวอร์เรสต์ เราก็ยังอยากไปต่อ แต่ตอนนี้อีมมีอีกความฝันหลังจากกลับมา อีมรู้สึกว่าเราได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คนโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นแรงบันดาลใจแบบเดียวกันกับที่เราเคยได้รับมาจากพี่หนึ่ง ซึ่งเราสามารถส่งต่อพลังที่ยิ่งใหญ่นั้นไปให้กับคนอื่นๆ ได้ ไม่เฉพาะแค่เรื่องปีนเขา แต่จะเป็นแรงบันดาลใจอะไรก็ได้ในการทำสิ่งที่ดีๆ

อีมอยากให้คนมีฝันเชื่อมั่นในตัวเอง แน่วแน่ในสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ อยากให้ลงมือทำ ไม่ต้องรออะไร มันทำได้เลย ความล้มเหลวมันอาจจะสอนอะไรเรามากกว่าความสำเร็จด้วยซ้ำ การลงมือทำมันไม่มีอะไรที่จะเสียเลย มันมีแต่จะได้ ถ้าไม่ทำมันมีแต่จะเสียใจ มีหลายคนที่ไม่เชื่อว่าอีมจะทำได้ แต่อีมก็ทำให้ดูแล้ว เราไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมาก ไม่ต้องใช้คำพูดไปบอกใคร เราแค่ลงมือทำ อีมคิดว่ามนุษย์มีพลังข้างในมากกว่าที่ตัวเองคิด เราแค่ต้องลองทำดู


ภาพทั้งหมดถ่ายโดย Samsung Galaxy s7

Magazine made for you.