‘เอมี่ คร็อคเกอร์’ นักท่องโลกตัวแม่ ต้นแบบชีวิตดี๊ดีแห่งศตวรรษที่ 19

ผู้สืบทอดมรดกมหาศาล, เจ้าหญิงนักท่องโลก, ราชินีโบฮีเมียน, นักสะสมสามีและคนรัก, นักอุปการะเด็ก, นักเขียน, นักจัดปาร์ตี้, สตรีลึกลับผู้มาพร้อมรอยสัก สร้อยไข่มุก และมีงูเหลือมโบอาเป็นสัตว์เลี้ยง

ทั้งหมดนี้คือคำจำกัดความของ เอมี่ คร็อคเกอร์ (Aimée Crocker) สตรีชาวอเมริกันผู้เกิดมาในครอบครัวเศรษฐีกิจการรถไฟอันมั่งคั่ง และมีเรื่องราวชีวิตที่เข้มข้นจากการเดินทางไปทั่วโลก เธอเที่ยว เธอแต่งตัว เธอปาร์ตี้ เธอมีความรัก เธอมีครบตรงทุกนิยาม ‘ชีวิตดี๊ดี’ ที่เราเรียกกันในปัจจุบัน ซึ่งนั่นทำให้คนยกเธอให้เป็น globetrotter หรือนักท่องโลกตัวแม่มาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน

ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1801-1900)ในยุคที่ยังไม่มีเครื่องบิน และเรือเดินสมุทรลำมหึมาอย่างไททานิคยังไม่ถูกสร้าง การเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหลายพันไมล์จากอเมริกาสู่ทวีปเอเซีย เพื่อท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ยังต้องใช้เวลานานนับเดือน ไม่ว่าคุณจะรวยแค่ไหน หากคิดจะเดินทางท่องโลกในยุคนั้น ก็ต้องได้พบกับความลำบากไม่มากก็น้อย ในกรณีของเอมี่ เธอเคยถูกลักพาตัวที่อินโดนีเซีย และเกือบถูกฆ่าที่เมืองจีน แต่เธอก็รอดมาเที่ยวและปาร์ตี้ต่อได้

เอมี่ คร็อคเกอร์ เกิดในปีค.ศ. 1864 ที่เมืองซาคราแมนโต แคลิฟอร์เนีย ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ซึ่งในยุคนั้นยังเป็น wild west ที่เต็มไปด้วยคาวบอย นักเสี่ยงโชค และขุนโจร อาจเรียกได้ว่าในขณะที่สาวไฮโซตามเมืองใหญ่ทางฝั่งตะวันออกเช่นแถบแมสซาชูเซตส์หรือนิวยอร์กโตมากับความศิวิไลซ์ เอมี่ก็เป็นสาวไฮโซที่เติบโตอยู่มากับแดนเถื่อนอย่างแคลิฟอร์เนีย จุดนี้เองที่อาจทำให้เธอเป็นไฮโซสาวที่มีความกล้าบ้าบิ่นไม่แคร์โลกกว่าใคร

สมัยยังสาวเธอถูกส่งไปเรียนที่เมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนีหลังจากบิดาของเธอเสียชีวิตลง ที่นั่นเธอได้พบกับรักแรกที่เป็นถึงเจ้าชาย (Prince Alexander of Saxe Weimar) และได้หมั้นหมายกันด้วย แต่แล้วเธอเองก็เปลี่ยนใจ ทิ้งเจ้าชายแล้วไปแอบคบหาอย่างลับ ๆ กับนักสู้วัวชาวสเปนแทน

เมื่อเธออายุ 19 ปี เธอก็ได้กลับมาบ้านเกิดที่สหรัฐอเมริกา และแต่งงานเป็นครั้งแรก (อย่างเป็นทางการ) ในปี 1882 กับ Richard Porter Ashe ทายาทผู้ก่อตั้งเมืองแอชวิลล์ แห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา เธอและสามีเป็นคู่รักที่มีชื่อเสียง แม้แต่ทริปฮันนีมูนของเขาและเธอยังดังไปทั่วประเทศ เมื่อทริปน้ำผึ้งพระจันทร์ดันกลายเป็นทริปสยอง รถไฟขบวนที่ทั้งคู่โดยสารไปลอสแอนเจลิสเกิดอุบัติเหตุที่ภูเขา Tehachapi รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1883 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ทั้งคู่รอด! และสามีของเธอกลายเป็นหนึ่งในฮีโร่ที่ช่วยชีวิตคนไว้ได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น

ภาพอุบัติเหตุทางรถไฟที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐจากหนังสือพิมพ์ Frank Leslie’s Illustrated Newspaper ปี 1883

หลังจากที่เธอให้กำเนิดลูกคนแรก ชีวิตดี๊ดีก็ดูเหมือนจะไม่ง่าย เมื่อสามีของเธอเริ่มเข้าสู่วงการพนันม้าแข่งและเริ่มเจ๊าะแจ๊ะกับสาวสังคมคนอื่น ๆ เธอเองก็เช่นกัน เพราะระหว่างนั้นเธอก็เริ่มโปรยเสน่ห์ให้กับเหล่านักขี่ม้าหนุ่มจนตกเป็นข่าวกอสซิปกันในสังคมชั้นสูง สุดท้ายชีวิตแต่งงานของเธอกับ Porter ก็ไปกันไม่รอด ทั้งคู่หย่าขาดจากกัน และเรื่องราวยิ่งรุนแรงขึ้นอีกเมื่อ Porter ได้ลักพาตัว Gladys ลูกสาวของทั้งคู่ไป จนกลายเป็นข่าวฉาวสะท้านสังคมชั้นสูงทั่วสหรัฐ

เพื่อหลบไปพักจากเสียงครหาของสังคม เธอจึงเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตในฐานะนักเดินทาง เธอออกเรือยอร์ชลำหรูหันหลังให้อเมริกาแล้วมุ่งหน้าสู่จุดหมายแรก คือ หมู่เกาะแซนด์วิช (ฮาวาย) ที่ซึ่งเธอได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระเจ้าคาลาคาอัว (King Kalākaua) กษัตริย์แห่งฮาวาย ที่ทรงพอพระทัยเธอมากจนพระราชทานเกาะให้เป็นของขวัญ (ว่ากันว่าเป็นเกาะเล็ก ๆ ในหมู่เกาะ Moloka’i) และยังพระราชทานตำแหน่งเจ้าหญิงติดตัวมาอีกด้วย

อนึ่ง พระเจ้าคาลาคาอัว (ครองราชย์ ค.ศ. 1874-1891) สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรฮาวาย ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า ‘ราชาเจ้าสำราญ’ เพราะท่านทรงโปรดในศิลปะ ดนตรี และงานรื่นเริงเป็นพิเศษ ว่ากันว่าการเต้นฮูล่าของฮาวายที่โลกรู้จักในวันนี้ ก็ถูกฟื้นฟูขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ (จากที่มิชชันนารีคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เคยมาแบนวัฒนธรรมนี้ไว้)

แผนที่หมู่เกาะแซนด์วิช หรือ ฮาวายใน ค.ศ.1893

ชีวิตนักเดินทางในตะวันออกไกลของเธอเต็มไปด้วยความโลดโผนและการผจญภัย เธอได้ไปเห็นประเทศญี่ปุ่นในยุคที่เพิ่งเปิดประเทศแรกๆ ได้ล่องเรือลงใต้ไปเยือนหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ตาฮิติ และ ซามัว ที่เกาะบอร์เนียวเธอต้องหนีจากการถูกไล่ล่า เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากการหลบหนีในป่า และถูกลักพาตัวโดยเจ้าชายชาวชวาของอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าในขณะนั้นเธอจะแต่งงานกับสามีคนที่ 2 แล้ว แต่ตลอดการเดินทางเธอก็มักจะมีหนุ่มเอเซียมาติดพันเป็นชู้รักอยู่เสมอ

เอมี่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่จีนนานพอสมควร นอกจากวัฒนธรรมแปลกใหม่มากมายแล้ว ที่เซี่ยงไฮ๊เธอยังได้เห็นทัณฑ์ประหาร ‘แล่เป็นพันชิ้น’ (Lingchi หรือ death by a thousand cuts) อันน่าสยดสยอง และเคยเกือบถูกแทงตายด้วยมีดมาแล้ว

แน่นอนว่าสังคมไฮโซไม่ว่ายุคไหนก็มักจะคาบเกี่ยวกับพื้นที่สีเทาอยู่เสมอ เอมี่ก็เช่นกัน เส้นสายและเพื่อนฝูงมักจะพาเธอไปเห็นด้านที่นักเดินทางทั่วไปไม่มีโอกาสได้รู้จัก เธอได้เห็นโลกใต้ดินที่ฮ่องกงและโลกการพนันที่มาเก๊า ในช่วงที่เธออยู่อินเดีย เธอได้ใช้เวลาในฮาเร็มของราชา (เธอเชื่อว่าเธอเป็นสตรีอเมริกันคนแรกที่เคยเข้าไปในฮาเร็ม) และประสบคดีฆาตกรรมปริศนาที่ทำให้เพื่อนของเธอเสียชีวิต

ที่อินเดียเธอได้รู้จักศาสนาและความเชื่อแปลกใหม่สำหรับเธอ ทั้งพุทธ ฮินดู และ เซน เธอมีโอกาสได้เข้าพบกับโยคีในถ้ำเพื่อเรียนรู้และค้นหาสัจธรรม ในปัจจุบันนี้เราอาจจะเห็นไฮโซอเมริกันกับดาราฮอลลีวูดนับถือพุทธ หรือฝึกฝนร่างกายด้วยโยคะแขนงต่างๆ กันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อร้อยกว่าปีที่ก่อน หนึ่งในชาวตะวันตกคนแรกๆ ที่นำศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออกกลับมาเผยแพร่สู่สังคมชั้นสูงในสหรัฐอเมริกาก็คือ เอมี่ คร็อคเกอร์

หลังจากใช้ชีวิตในดินแดนตะวันออกไกลนับสิบปี เธอก็ได้กลับมายังอเมริกาช่วงประมาณปี 1900 พร้อมกับศรัทธาในศาสนาใหม่ และไลฟ์สไตล์ที่ไม่มีใครเหมือน เธอเริ่มจัดปาร์ตี้กับเหล่าไฮโซที่นิวยอร์ก และแต่ละครั้งก็มีธีมสุดอลังการ เช่น ธีมโรบินสัน ครูโซ ถ้าสาว Boho-chic สมัยนี้คิดว่าเอามงกุฏดอกไม้มาสวมหัว เอาเดรสลายพื้นเมืองมาใส่ก็เรียกตัวเองว่าโบฮีเมียนได้แล้ว ต้องย้อนไปดูเอมี่ในปาร์ตี้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

เธอจะมาในแฟชั่นที่แหวกแนวซึ่งเธอได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันออกที่เธอหลงใหล และที่ขาดไม่ได้คืองูเหลือมโบอาเพื่อนใหม่ที่พันอยู่รอบคอเสมอ ว่ากันว่าบางปาร์ตี้เธอถึงกับขี่ช้างเปิดตัวเข้ามาเลยก็มี ผู้คนรักเธอ และตั้งฉายาให้เธอเป็น ‘ผู้สร้างความบันเทิงให้กับเหล่าผู้สร้างความบันเทิง’ (Entertainer of Entertainers) เห็นได้ชัดว่าอะไรก็ตามที่เธอทำ จะล้ำกว่าทุกคนเสมอ

หลังจากที่สามีคนที่ 3 ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงบรอด์เวย์จากกลุ่มผู้สนใจพุทธศาสนาที่เธอตั้งขึ้นเสียชีวิต เธอก็ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ปารีส ที่นั่นเธอยังคงปาร์ตี้ และได้รู้จักกับเพื่อนฝูงใหม่ ๆ มากมาย เธอได้เขียนหนังสือชื่อ Moon Madness and Other Fantasies ขึ้นจากประสบการณ์ 10 ปีในต่างประเทศครั้งนั้น ระหว่างนั้นก็ยังมีผู้ชายมากหน้าหลายตาเข้ามาวนเวียนและสร้างความสัมพันธ์กับเธออยู่เสมอ

ในวัย 50 เธอแต่งงานอีกเป็นครั้งที่ 4 กับเจ้าชายรัสเซียที่มีอายุห่างกว่าเธอเกือบสิบปี แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกรากันไปเพราะเธอจับได้ว่าเขาแอบมีความสัมพันธ์กับลูกเลี้ยงของเธอ และแต่งงานครั้งที่ 5 ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายกับเจ้าชาย Mstislav Galitzine เมื่อเธออายุ 61 และเขาอายุ 26 ปี โดยเธอยังบอกว่า “ถ้านับจริง ๆ คนนี้คือสามีคนที่ 12 ของฉัน”

ในวัย 72 ปีเอมี่ได้เขียนหนังสือชื่อ And I’d do it again บอกเล่าเรื่องราวชีวิตทั้งหมดของตน โดยเธอเขียนคำนำเอาไว้ว่า

“อย่าเข้าใจผิดว่าหนังสือเล่มนี้คือการขอโทษ เปล่าเลย ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มอิ่มแล้ว และฉันขอบคุณพระเจ้าสำหรับมัน ฉันเพียงเสียดายต่อสิ่งที่ฉันยังไม่ได้ทำ ต่อประสบการณ์ที่ฉันยังไม่ได้สัมผัส และต่อคนที่ฉันยังไม่ได้รู้จักเท่านั้น”

รูปแบบการใช้ชีวิตแหกขนบของ เอมี่ คร็อคเกอร์ ทำให้เธอถูกคนยุคปัจจุบันกล่าวถึงในฐานะ ‘โบฮีเมียนตัวแม่ที่แท้จริง’ (ที่ถูกควรจะเป็นตัวทวด) แม้เธอจะไม่ใช่ปารีเซียง ไม่ได้เป็นศิลปินไส้แห้งเจ้าอุดมการณ์ ที่ต้องการขบถต่อกระบวนทัศน์ของสังคมชนชั้นกลางเหมือนเหล่าโบฮีเมียนฝรั่งเศสรุ่นบุกเบิกก็ตาม แต่หากจะมีใครที่ใช้ชีวิตนอกกรอบ เหนือความคาดหมาย จน ‘ทำให้ชนชั้นกลางต้องตะลึงพรึงเพริด’ ตามวลีที่ว่า Épater la bourgeoisie คน ๆ นั้นก็คือ เอมี่ คร็อคเกอร์ อย่างไม่ต้องสงสัย

วัตถุสะสมและงานศิลปะแขนงต่าง ๆ จากการเดินทางนับสิบปีที่เอมี่นำกลับมาที่อเมริกาถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เมืองซาคราเมนโต ที่พ่อและแม่ของเอมี่เป็นคนก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1869 และได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เปิดต่อเนื่องยาวนานที่สุดทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ

[su_gmap width=”1600″ address=”Crocker Art Museum”]Crocker Art Museum[/su_gmap]

เอมี่ คร็อคเกอร์เสียชีวิตในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี 1941 ในวัย 78 ปี ศพของเธอถูกฝังไว้กับพ่อที่ Sacramento Historic City Cemetery

An introvert Star Wars fan boy who's also the co-founder of Cultured Creatures.

Magazine made for you.