เฉิงตู-ลารุงการ์ จากป่าไผ่แพนด้าสู่หลังคาโลก

การเดินทาง มักมีเรื่องไม่คาดคิดเสมอ เสน่ห์ข้อนี้คงเป็นสิ่งที่นักเดินทางทุกคนคุ้นเคยกันดี ทริปนี้เริ่มต้นจากการได้อ่านกระทู้และเว็บต่างๆ ที่ผ่านตามา เห็นภาพลารุงการ์ (Larung Gar) สถานปฏิบัติธรรมชาวพุทธธิเบตที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ไฟผจญภัยในตัวก็ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง พร่ำบอกตัวเองว่า “อยากไป อยากไป อยากไป” อยู่หลายวัน สุดท้ายก็ทนไม่ไหว มือเผลอคลิ้กจองตั๋วเครื่องบินกับโรงแรมในที่สุด พลาดท่าอีกแล้วสิเรา

เนื่องจากผมเองมีหน้าที่สอนหนังสืออยู่ที่ประเทศจีนอยู่แล้ว เลยหาไฟลต์เดินทางจากเมืองที่อาศัยอยู่ไปยังเฉิงตูได้ไม่ยากนัก การเดินทางครั้งนี้เราไปกันสองคน โดยที่ทั้งคู่ไม่รู้ภาษาจีนเลยแม้แต่น้อย มีแต่สมาร์ทโฟนในมือที่ต่ออินเตอร์เน็ตได้กับแอพวุ้นแปลภาษา (Bing translate) ที่ช่วยให้เรารอดมาได้ในหลายสถานการณ์ แผนการเดินทางของเราคือ พักที่เฉิงตูหนึ่งคืน แล้วเดินทางตรงดิ่งไปเซอต๋า (Sêrtar หรือ Seda) เลยเพื่อจะได้ไปพักที่ลารุงการ์หลายวันหน่อย

แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผัน เพราะเมื่อเราเดินทางไปต่อแถวซื้อตั๋วที่สถานีรถบัส ชาเตี้ยนสี (Chadianzi) เจ้าหน้าที่หนุ่มก็พูดห้วนกลับมาว่า “Sold out, sold out” หรือ “ตั๋วหมด” อ้าว แล้วจะทำอย่างไรกันดี? วินาทีนั้นทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เราตัดสินใจไป หม่าเอ๋อคัง (Ma’erkang) แทน และเลือกเดินทางไปตอน 08.30 น. (มีวิ่งรอบ 06.30, 10.00, 12.00 และ 13.30 เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมง ค่าตั๋วประมาณ 140 หยวน)


TIP: เส้นทางเฉิงตูเซอต๋ามีเพียงเวลา 06.10, 06.15, 06.20 น. และตั๋วรถบัสมีจำหน่ายเพียงที่สถานีรถบัสชาเตี้ยนสีเพียงแห่งเดียว และสามารถซื้อล่วงหน้าได้เพียง 3 วัน แม้จะมีเว็บไซต์ให้จองตั๋วออนไลน์ (www.scqcp.com มีแต่ภาษาจีนและใช้บัตรเดบิตออกโดยธนาคารในจีนจ่าย) ก็ยังต้องไปรับตั๋วที่สถานีอีกที ดังนั้น หากต้องการเดินทางควรรีบมาซื้อตั๋วอย่ารอช้า ราคา 209 หยวน เวลาเดินทาง 14 ชั่วโมง


หลังจากซื้อตั๋วได้แล้ว เราก็ไปเยี่ยมมาสคอตของประเทศจีนกันที่ศูนย์วิจัยการขยายพันธุ์แพนด้ายักษ์เฉิงตู (Chengdu Research Base of Giant Panda Breeding เปิดทุกวัน 07.30 – 18.00 น., 58 หยวน) ในนี้เราจะได้เดินลัดเลาะป่าไผ่ไปสัมผัสกับหมีขี้เกียจที่ถ้าไม่นอนอุตุ, กินอาหารตุ้ยๆ ก็แกล้งเพื่อนเล่นทั้งวัน นอกจากจะได้สัมผัสหมียักษ์แสนซนอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังมีโอกาสได้พบแพนด้าแดงตัวน้อยที่ปีนต้นไม้ได้สูงมาก และนกยูงตัวใหญ่ที่ไม่กลัวผู้คน แถมยังมาแวะเวียนเซลฟี่กันประหนึ่งเป็นเซเลปเจ้าถิ่น

01
ห่านบริเวณริมสระ แวะเวียนมาทักทายและโฉบปาดหน้านักท่องเที่ยวที่มาชมสวนและให้อาหารปลาคาร์ฟ

02
หมีขี้เล่น นวดฝ่าเท้าตำรับแผนจีนให้กับเพื่อนที่กำลังหลับปุ๋ย

03
เวลากลางวันนอกจากหมีแพนด้าจะนอนแล้ว บางส่วนก็จะเคี้ยวอาหารตุ้ยๆ ต่อหน้าธารกำนัลแบบไม่แคร์กล้องและมือถือที่รายล้อม

04
นกยูงเซเลปมามีตแอนด์กรี๊ดทักทายบรรดานักท่องเที่ยวแบบใกล้ชิด

ก่อนการเดินทางมาเฉิงตู เราเคยอ่านพบว่าที่นี่จัดเป็นเมืองหลวงแห่งอาหารรสเด็ด และเมื่อเราได้ลองสั่งอาหารเสฉวนจากร้านอาหารในศูนย์วิจัยแห่งนี้ ก็พบว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวนั้นมีมูลความจริงไม่น้อย เพราะอร่อยกว่าอาหารจีนที่เราเคยสัมผัสมาจากมณฑลอื่นมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีรสชาติเผ็ด ต่างจากอาหารรสชาติเค็มๆ จืดๆ ที่ได้เคยทานมานั่นเอง แถมยังมีให้เลือกหลากหลายอีกต่างหาก เนื่องจากเราอ่านภาษาจีนไม่ออก ทุกครั้งที่จะเลือกร้านอาหาร เราจะมองหาเมนูก่อนเสมอว่ามีภาพประกอบหรือไม่ เพราะแม้ว่าจะอ่านไม่ออก แต่แค่ดูภาพก็พอเดาๆ ได้ช่วยให้ตัดสินใจได้ไม่ยาก


TIP: การเดินทางในเมืองต่างๆ ของจีน ผมจะมีแอพแผนที่ของสามเทพเจ้าฮกล่กซิ่วติดเครื่องไว้ ได้แก่ Apple Maps ที่มีมาในเครื่อง ซึ่งสามารถเสิร์ชหารถบัส, รถไฟฟ้า, รถไฟได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ข้อเสียคือ มักจะหาสถานที่ไม่ค่อยเจอ, Google Maps อันนี้ต้องใช้กำลังภายใน ต่อ VPN ผ่านแอพอื่นก่อนใช้งาน เพราะประเทศจีนบล็อกกูเกิ้ล, เฟสบุ้ค ข้อดีคือหาสถานที่เจอง่ายกว่า แต่ข้อเสียคือบางครั้งต่อ VPN ไม่ได้ ก็อดใช้, และ Baidu Maps (百度地图) ที่เป็นทางเลือกสุดท้าย เสิร์ชหาสถานที่เจอ และแสดงผลเป็นภาษาจีน ทำให้ง่ายต่อการขอความช่วยเหลือ หรือแสดงให้คนขับรถแท็กซี่เห็นปลายทางที่เราต้องการไป


เมื่อถึงเวลารุ่งเช้า ก็ได้เวลาออกเดินทางไปยังเมือง หม่าเอ๋อคัง (马尔康 – འབར་ཁམས) ลาจากความเจริญของตัวเมืองไปสู่การผจญภัยเบื้องหน้า ถนนจากที่ลาดยางอย่างดี ก็ค่อยๆ บีบแคบเลนลงเหลือแค่สองเลน และขรุขระไปด้วยหินกรวด บางช่วงก็ต้องรอรถฝั่งตรงข้ามผ่านไปก่อน เพราะถนนมีสิ่งกีดขวางการจราจรอยู่ รถบัสที่เรานั่งกันมาก็ทั้งสั่นทั้งโยกโคลง เป็นจังหวะตามพื้นผิวถนน วิวข้างทางจากตึกคอนกรีตก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นชนบท และในที่สุดก็เป็นภูเขาสูง รถของเราลัดเลาะตามเส้นทางเรียบแม่น้ำค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ บางครั้งก็มีหยุดแวะพักรายทาง เพื่อยืดเส้นยืดสาย, เข้าห้องน้ำ และรอถนนเปิดด่าน ระหว่างทางมีพักทานข้าว แต่ค่าข้าวไม่ได้รวมไปกับค่าตั๋วเดินทางเหมือนบ้านเรา จนในที่สุด ก็เดินทางมาถึงจุดหมายราวๆ บ่าย 4 โมงเย็น สถานีรถบัสดูโล่งไร้ผู้คนมากๆ

เมื่อมาถึง เราก็รีบซื้อตั๋วต่อไปยังเมืองเซอต๋า ซึ่งก็มีรอบ 07.20 น. ราคาราว 150 หยวน (จำตัวเลขเป๊ะๆ ไม่ได้) เนื่องจากเราไม่ได้จองห้องพักล่วงหน้า เลยมองหานายหน้าหาห้องพักที่มักจะเดินอยู่รอบสถานี ด้วยความที่ผมหน้าจีน ทุกครั้งก็จะมีนายหน้ามาพูดจีนใส่อยู่ตลอด แต่ก็ได้แต่บอกปฏิเสธไป ยกเว้นครั้งนี้ ที่เราพยายามเจรจาสื่อสารกันผ่านวุ้นแปลภาษาบนมือถือ จนตกลงราคากันได้แล้ว เธอก็พาเราไปยังห้องพักที่เป็นห้องแบ่งเช่า ได้บรรยากาศของคนท้องถิ่นเต็มๆ เพราะจากห้องพักไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ไม่เจอนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด

ที่นี่เองที่คนที่มาเที่ยวกับผมด้วยเจิดจรัสเปรียบดั่งเซเลป เพราะเขาเป็นฝรั่งตาน้ำข้าวอิมพอร์ตจากสแกนดิเนเวีย ทันทีที่เดินทางออกนอกเฉิงตูมาได้ ไม่ว่าจะเดินไปทางใด ก็จะมีคนท้องถิ่นหันมามองและหลายครั้งก็ทักทายด้วยตลอดทาง ถึงขนาดขอให้ถ่ายรูปให้ก็มี ดูสองมาตรฐานมากๆ เพราะเราเองก็ต่างชาติเหมือนกันนะ พูดจีนไม่ได้เสียหน่อย (แอบงอน) แค่หน้าตากลมกลืนไปหน่อยเท่านั้นเอง กลมกลืนถึงขนาดว่าไปทานอาหารมาไม่ต่ำกว่าสี่ร้านโดยที่พนักงานร้านสื่อสารเหมือนเราเป็นคนจีนแท้ๆ ไม่ได้เอะใจเลย

05
บรรยากาศเมืองนี้คล้ายๆ เมืองอื่นๆ ของจีน แต่ต่างตรงที่รายล้อมด้วยภูเขาที่ตกแต่งด้วยธงผ้าหลากสีแบบธิเบต และตามท้องถนนมีผู้คนเชื้อสายธิเบตอยู่มาก

การที่เราเลือกมาที่เมืองหม่าเอ๋อคังนี้ จริงๆ แล้วหลายเว็บก็แนะนำ เพราะถือว่าเป็นทางผ่านที่ทำให้ใครที่คิดจะเดินทางต่อไปยังเซอต๋านั้นได้แวะพักปรับตัวก่อน หากใครเคยปีนเขาก็อาจจะคุ้นเคยกับอาการแพ้ความสูง Altitude Sickness หรือ AMS (Acute Mountain Sickness) โดยเฉพาะเมื่อผู้เดินทางไต่ระดับเกินกว่า 2,700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งอาการนี้อาจเกิดกับใครก็ได้โดยไม่เกี่ยวกับเพศ, อายุ หรือความแข็งแรง เนื่องจากปริมาณอ็อกซิเจนนั้นจะเบาบางลงเรื่อยๆ ตามความสูง ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อชดเชยความต้องการอ็อกซิเจน ทำให้เหนื่อยหอบได้ง่าย และอาจมีอาการข้างเคียงคือ ทานไม่ได้ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะหน่วงๆ และอาจถึงขั้นอาเจียนได้ หากเป็นหนักอาจเสี่ยงต่อชีวิต หนทางแก้ที่ดีที่สุดคือรีบพาลงไปยังพื้นราบ

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือปรับตัวต่อสภาพอากาศที่อ็อกซิเจนเบาบาง โดยค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไป และทานยาช่วย อย่างที่หมอจีนแนะนำ ก็จะเป็นยา หงจิงเถียน (红景天 – Rhodiola) มีทั้งชนิดแคปซูลและชนิดน้ำ หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปในเฉิงตูและหม่าเอ๋อคัง เราซื้อชนิดแคปซูลมาทานวันละสองครั้ง ครั้งละสองเม็ด

06
ยาหงจิงเถียนสำหรับกันไม่ให้เกิดอาการ AMS

เมืองหม่าเอ๋อคังนี้ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,615 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งก็คาบเกี่ยวตรงกลางๆ ก่อนที่เราจะเดินทางไปต่อที่เซอต๋า เมืองที่อยู่สูงประมาณ 3,800 – 4,100 เมตร แม้ว่าหม่าเอ๋อคังจะไม่ใช่เมืองใหญ่อะไร แต่เราก็ได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนจีนและคนธิเบตที่อยู่ร่วมกันเป็นอย่างดี ที่นี่เราได้เห็นความแตกต่างทางอาชีพที่ชัดเจน กลุ่มคนที่แต่งกายด้วยชุดออกแนวธิเบต หากไม่เป็นพระหรือแม่ชี ก็จะเป็นคนกวาดถนน หรือขายเสื้อผ้า ขณะที่คนจีนดูจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าเจ้าของกิจการห้างร้านเสียเป็นส่วนใหญ่

07
สองข้างทางถนนสายนี้เต็มไปด้วยร้านอาหารแบบสุกี้หม้อไฟที่ดูจะได้รับความนิยมกว่าอาหารจีนตามสั่งที่อยู่ติดๆ กัน

ร้านอาหารที่เราลองเป็นร้านอาหารท้องถิ่น สุกี้หม้อยวนยางแบบเสฉวน แบ่งเป็นสองช่องน้ำซุปรสจืดและรสเผ็ดที่มีพริกหอมชวงเจียผสมอยู่ ที่นี่เองเราได้เห็นว่าคนท้องถิ่นดื่มกันหนักจริงๆ เพราะไม่ได้ดื่มแค่เบียร์แต่ดื่มเหล้าขาวกันเลย ระหว่างที่เราคลำๆ เดาๆ วิธีทาน ก็สังเกตเห็นว่าคนแถวนี้เป็นมิตรกันดี มีไปคุยและชนแก้วกับโต๊ะอื่นทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน

08
บรรยากาศในเมือง ผู้คนขวักไขว่ตามถนน อาชีพขัดรองเท้ายังมีให้ได้เห็นในแถบนี้

09
กระต่ายริมทาง

10
เด็กน้อยแถบนี้ แก้มจะอูมๆ สีชมพูๆ ดูน่าหยิกมาก

11
เขินอายกันทั้งคุณพ่อคุณลูก

วันถัดมา เราก็เดินทางต่อกันไปยังเซอต๋าด้วยรถบัสรอบ 07.20 ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ชั่วโมง ถนนในช่วงแรกๆ ไม่ค่อยดี แต่ช่วงหลังๆ ถนนราดยางเป็นอย่างดี เมื่อถึงที่พัก อาการ AMS ก็เริ่มมาหากันเลย ผมมึนๆ และปวดศีรษะเล็กน้อย ส่วนผู้ร่วมเดินทางก็เป็นหนักขนาดท้องเสียและอาเจียนออกมาเลยทีเดียว เราก็ได้แต่นอนพัก และพยายามหายใจช้าๆ ลึกๆ บรรเทาอาการไป ดีที่เช้าวันต่อมา อาการดีขึ้น เลยไปเที่ยวกันต่อได้

12
สถานีรถบัสที่หม่าเอ๋อคังคลาคล่ำไปด้วยผู้คนในช่วงเช้า ทุกสถานีสาธารณะทั่วจีนจะมีเครื่องสแกนกระเป๋าแบบมุมขวาติดตั้งอยู่พร้อมเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาความปลอดภัย

13
วิวสองข้างทางนอกหน้าต่างรถบัส แนะนำให้นั่งฝั่งขวาถ้าเป็นไปได้ เพราะแดดที่ส่องเข้ามาทางซ้ายแยงตาตลอดทาง

14
ระหว่างทางก็จะมีหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อยืดเส้นยืดสาย, เข้าห้องน้ำ และแวะพักรับประทานอาหาร วิวบางจุดก็สวยงามน่าดู

แคว้นเซอต๋า (Sêrtar County – གསེར་ཐར། ที่เป็นคำธิเบต หมายความว่า อาชาสีทอง) นั้นเป็นหนึ่งใน 18 แคว้นภายใต้มณฑลปกครองตนเองทิเบตกานเซ (Garzê Tibetan Autonomous Prefecture) ในถิ่นประวัติศาสตร์คาม (Kham) ถึงแม้เซอต๋าจะยังถือว่าอยู่ในเขตมณฑลเสฉวนของจีน (ถ้าขับไปอีกราว 40 กิโลเมตรก็จะถึงชายขอบเขตปกครองตนเองธิเบต – Tibetan Autonomous Region) แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่ประชากรส่วนใหญ่จะมีพื้นเพเป็นชาวธิเบต ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นตึกรามบ้านช่องสไตล์ธิเบต โดยเฉพาะประตูที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ที่นี่ ไม่ค่อยจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เห็น ทำให้ฝรั่งกลายเป็นจุดสนใจโดดเด่นเห็นมาแต่ไกล ไม่ว่าจะไปทางไหนก็มีคนมองหรือทักทายตลอดทาง เท่าที่ได้สังเกตดู ผู้คนดูยิ้มแย้มและใช้ชีวิตช้าๆ ไม่เร่งรีบกัน ตารางเวลาไม่ค่อยตายตัว ที่นี่มีถนนหลักวิ่งผ่านกลางเมือง มีจัตุรัสที่มีรูปปั้นม้าสีทองตระหง่านอยู่ใจกลาง ถ้าเดินจากทางเข้าจนถึงสุดทางก็จะใช้เวลาประมาณ 45 นาที หรือถ้านั่งแท๊กซี่ก็ราคาประมาณ 5-7 หยวน เราเข้าพักที่ Sukhavati Bloom Youth Hostel (พิกัด 32.269840,100.328901) ตามที่จองมาจาก booking.com ราคา 70 หยวน สำหรับห้องพักรวม 6-8 เตียง, 288 หยวนสำหรับห้องคู่พร้อมห้องน้ำ และ 350 หยวนสำหรับครอบครัวสามเตียงพร้อมห้องน้ำ

15
อาชาสีทองตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางจัตุรัส เป็นจุดนัดพบที่หาง่าย และมีรถบริการไปยังสถานที่ต่างๆ อยู่รอบๆ

16
เอกลักษณ์ของประตูแบบธิเบตพบเห็นได้ตลอดแนวถนนในเซอต๋า

17
ยานยนต์ขับเคลื่อนหนึ่งแรงม้า

18
สถูปบริเวณประตูทางเข้าด้านหน้าเซอต๋ายามพระอาทิตย์ตกดิน

เป้าหมายหลักของเราคือไปสถานปฏิบัติธรรมลารุงการ์ ซึ่งวิธีการเดินทางก็ง่ายมาก เพียงเดินไปที่จัตุรัสใจกลางเมือง ก็จะมีวินรถที่เราสามารถถามว่าคันไหนไปลารุงการ์ได้เลย รถที่ได้รับอนุญาตจะต้องมีสติกเกอร์ตัวเลขในวงกลมสีเขียวอยู่ข้างรถ แต่ก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะรถตู้ตำรวจก็ตั้งอยู่ตรงจัตุรัสนั้นเอง และเราเองยังไม่เจอคนธิเบตหลอกลวงเราตลอดทริปนี้ ค่ารถตกอยู่คันละ 50 หยวนต่อเที่ยว ถ้าไปกันหลายคนก็มีตัวหารมาก ไม่มีตารางเวลาแน่นอน รถออกเมื่อคนเต็ม หรือถ้าขี้เกียจรอ ก็แค่จ่ายให้ครบ 50 หยวนก็ได้ รถจะขับขึ้นไปจอดที่ที่จอดรถหลักของลารุงการ์เลย หรือถ้าจะไปต่อด้านบน ก็สามารถบอกคนขับรถได้

คนขับของเราเป็นวัยรุ่นธิเบต ในระหว่างทางที่ขับรถไปก็รับแม่ชีขึ้นมาอีกสองท่าน ขณะที่ขับไปได้ไม่ไกลก็มาจอดกลางถนน เพราะโรงเรียนใช้เชือกกั้นถนนเพื่อให้นักเรียนตัวน้อยเดินข้ามถนนกันอย่างปลอดภัย ในเวลานั้นเป็นตอนเที่ยง คาดว่าอาจจะเดินทางกลับไปทานข้าวเที่ยงกันกับผู้ปกครองที่บ้าน สโลว์ไลฟ์มาก ส่วนรถที่รอก็เริ่มสะสมไปได้สักห้านาที ก็ได้ไปต่อ

19
โชเฟอร์วัยรุ่นเปิดเพลงท้องถิ่นขับกล่อมเราขณะเล่น weChat ไปพร้อมกับขับรถ

ลารุงการ์ (Larung Gar – བླ་རུང་སྒར) เป็นชุมชนชาวพุทธวัชรยานที่มาปฏิบัติธรรมกันที่สถาบันพุทธลารุงงาริก (Larung Ngarig Buddhist Academy ช่องทางติดต่อสำหรับสมัครเรียน buddhistweb.org) จากจำนวนพระ, แม่ชี และฆราวาสที่อาศัยในที่แห่งนี้กว่า 40,000 คน จึงเรียกได้ว่าเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ สถานที่แห่งนี้เริ่มก่อตั้งในปี 2523 หรือ 36 ปีที่แล้ว โดยเคนโป จิกมี ฟันซก (Khenpo Jigme Phuntsok) ที่เป็นลามะนิกายญิงมา (พุทธวัชรยานของธิเบตมีสี่นิกายด้วยกัน ได้แก่ ญิงมา (Nyingma), คาจู (Kagyu), สักยะ (Sakya) และเกลัก (Gelug) โดยนิกายญิงมาถือเป็นสายเก่าแก่ที่สุด เพราะสืบทอดมาจากพระไตรปิฎกฉบับแปลจากภาษาสันสกฤต)

ที่นี่ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะพบกับเพิงกระท่อมสีแดง (แซมสีเขียวบ้างเล็กน้อย) เต็มไปหมดสุดลูกหูลูกตา นอกจากจะมีแผนกการศึกษาทั้งสี่ของสถาบันสงฆ์ และที่อยู่อาศัยที่แบ่งโซนแยกสำหรับพระและแม่ชีแล้ว ที่ลารุงการ์นี่ยังมีโรงแรมที่ตั้งอยู่บนยอดเขาไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่อยากมาพักที่แห่งนี้ โดยค่าพักตกอยู่ราว 180-240 หยวนต่อคืนสำหรับห้องคู่ หรือถ้าห้องรวมก็จะถูกกว่านี้ สามารถมาจองห้องพักที่โรงแรมได้เลย ระหว่างทางเดินขึ้นยอดเขาจากที่จอดรถ จะได้พบกับพระและแม่ชีที่พักอาศัยอยู่ที่นี่ แต่ไม่ค่อยจะยอมให้ถ่ายรูปเท่าไหร่นัก บางท่านก็โบกมือปิดหน้า หรือรีบเดินหนีไป ผมเลยไม่ค่อยได้ถ่ายภาพบุคคลมาเท่าไหร่ นอกจากนี้ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ ไม่ได้มีการวางแผนสร้างไว้รองรับประชากรนับหมื่นตั้งแต่ต้น ทำให้ระบบสาธารณูปโภคประเภทขยะ และห้องน้ำ ไม่ค่อยได้รับการจัดการเท่าที่ควร หรือพูดง่ายๆ คือ เดินไปก็จะเห็นกองขยะและกลิ่นไม่พึงประสงค์แทรกอยู่เป็นระยะๆ

20
แม่ชีขณะกำลังเดินลงเขา เบื้องหน้าเป็นที่พักอาศัยสีแดงหลากเฉดซ้อนตัวตามไหล่เขา

21
เมื่อปี 2557 เกิดเหตุไฟไหม้ในลารุงการ์เพราะอาคารต่างๆ ส่วนมากทำจากไม้ แต่โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต

22
สีแดงหลากหลายเฉดจับจองเต็มพื้นที่เขา

นอกจากวิวสุดลูกหูลูกตาแล้ว เรายังสามารถไปชมพิธีกรรม Sky burial (བྱ་གཏོར เบียกฺตอร์) ที่ครอบครัวของผู้วายชนม์จะนำร่างมาให้พระสงฆ์กระทำพิธีทางศาสนา โดยการวางไว้บนเขาให้เน่าเปื่อยหรือเป็นอาหารสำหรับนกแร้ง ทั้งนี้ ตามความเชื่อของพุทธวัชรยาน ร่างกายเป็นเพียงพาหนะที่ว่างเปล่าและไม่จำเป็นอีกต่อไปเมื่อเราเสียชีวิต และวิญญาณได้เคลื่อนย้ายไปสู่ภพภูมิใหม่ นอกจากนี้ ในอดีต การเผาร่างแบบพุทธหินยานนั้นทำได้ยากและต้องใช้ทั้งเชื้อเพลิงต่างๆ ซึ่งชาวบ้านไม่ค่อยมีกำลังทรัพย์ ทำให้พิธีกรรม sky burial นี้สะดวกกว่า แต่ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ทศวรรษ 1960 รัฐบาลกลางของจีนก็ได้สั่งห้ามพิธีกรรมดังกล่าว แม้จะมีลักลอบกระทำในเขตชนบทห่างไกล จนมาถึงในปัจจุบัน ประเด็นเรื่องสุขอนามัยของท้องที่รอบๆ พิธีกรรม, ปัญหาสารเคมีแปลกปลอมจากยาประเภทต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในร่างกายทำปฏิกิริยากับนกแร้ง ทำให้ปริมาณนกลดน้อยลง และความเชื่อที่ว่าจามรีที่แบกร่างจะต้องถูกปล่อยให้เป็นอิสระยิ่งทำให้พิธีกรรมนี้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเผา จึงเริ่มไม่ค่อยได้รับนิยมเหมือนในอดีต

23
เพดานภายใน Temple of Death บริเวณที่จัดพิธีประดับไปด้วยกระโหลกจำลอง (นำมาแทนที่ของจริงจากร่างผู้เสียชีวิตที่ผ่านพิธีกรรม)

24
จามรี (yak) เดินอย่างอิสระ

25
ประเพณีการตกแต่งภูเขาด้วยธงผ้าหลากสีและจารึกอักษรธิเบตมีให้เห็นเป็นระยะๆ ตลอดเส้นทาง

การเดินทางไปชมพิธีกรรมนี้ สามารถหารถได้ที่คิวตรงบริเวณที่จอดรถหลักของลารุงการ์ ค่ารถตกอยู่ที่ 50 หยวนต่อคัน หารตามจำนวนคนนั่ง ซึ่งรวมขาไป รอจนเสร็จพิธีและพาเรากลับมาที่เดิม ทั้งนี้ พิธีจะเริ่มตอน 13.30 แต่ในวันที่เราไป พิธีเริ่มจริงๆ ตอนราวๆ 14.00 กว่าๆ และเสร็จสิ้นก่อนเวลา 15.00 น. สถานที่ที่ไปดูว่าจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพราะตอนที่เราไปนั้น มีการก่อสร้างโดยรอบๆ ดังจะเห็นได้จากคลิปวิดีโอนี้

https://youtu.be/Ul4qNJ8xQDI

ข้อสังเกตระหว่างที่เราเดินทางอีกอย่างคือ คนธิเบตดูจะเป็นมิตรและใจดี เพราะตอนที่เราโดยสารรถไปชมพิธีกรรมนี้ มีหนุ่มธิเบตจากลาซาเดินทางไปพร้อมกันด้วย เราก็คุยแนะนำตัวและสอบถามเป็นระยะๆ ตอนขากลับก็บอกว่าจะขอจ่ายค่ารถให้เราอีกด้วย แม้เราจะปฏิเสธอยู่หลายรอบ ก็ไม่ยอม กับอีกครั้งหนึ่ง ตอนที่เรานั่งรถจากโรงแรมมาขึ้นรถบัสกลับเฉิงตู ตามปกติจะจ่ายคนละ 5 หยวน คนขับก็ไม่รับเงินจากผู้โดยสารอีก บอกว่าเป็นบริการของโรงแรม ระหว่างที่เราเดินทางมายังแถบนี้ ก็ไม่เคยเจอโก่งหรือบวกเพิ่มราคาแต่อย่างใด ดูเป็นคนซื่อสัตย์และไม่สนใจจะเอาแต่กำไรเสียเท่าไหร่ น่าประทับใจกับจิตใจดีๆ ของคนธิเบต

หลังจากเที่ยวชมโดยรอบแล้ว ก็ได้เวลากลับ ขากลับนั้น เราจะต้องซื้อตั๋วรถบัสล่วงหน้าหนึ่งวัน ที่สถานีรถ (พิกัด 32.267421,100.32894) โดยจะเปิดให้ซื้อตอนประมาณ 09.30 แนะนำให้รีบมาซื้อแต่เนิ่นๆ เพราะหากเต็มขึ้นมาอาจจะผิดแผนได้ ราคาตั๋วอยู่ที่ประมาณ 240 หยวน มีรอบเดียว 05.30 น. แต่ตอนที่เราขึ้นรถนั้น ปรากฏว่าตั๋วที่นั่งซ้อนกับคุณป้าท่านหนึ่ง เลยงงๆ กันอยู่นาน และเมื่อคนขึ้นกันครบแล้ว รถก็ออกตอน 06.00 น. ล่าช้าไปครึ่งชั่วโมง ถึงสถานี Chadianzi ที่เฉิงตูตอน 20.00 น. เรานั่งแท็กซี่และเข้าพักหนึ่งคืน ก่อนจะบินกลับในวันถัดไป

00

สรุปว่าทริปนี้ มีความหลากหลายมาก ทั้งได้พบกับแพนด้า ได้ลิ้มลองอาหารเสฉวนแสนอร่อย ได้เดินทางขึ้นที่สูงเกือบ 4 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล ในดินแดนที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมธิเบต ได้เรียนรู้การเอาตัวรอดในที่ที่สื่อสารกันได้ยากลำบาก ได้เห็นวิถีชีวิต, พิธีกรรม และน้ำใจของผู้คนที่มอบให้แม้เราจะไม่รู้จักกัน ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 วัน กลับทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ๆ ที่แปลกตา ตอกย้ำให้เราเห็นว่ายังมีอีกหลายล้านสิ่งที่รอให้เราได้เรียนรู้ในโลกกว้างๆ ใบนี้

Viroj currently works as a researcher within international economics at Lund University in Southern Sweden. A traveller with a burning passion for photography, he mainly takes photos with his medium-format digital camera, and now tries to limit his travel plans (with no success) to save up for a wide-angled lens. Viroj has a blond labrador retriever named Molly, who loves swimming at the beach near his home in Copenhagen, Denmark.

2 Comments

Comments are closed.

Magazine made for you.