ตามรอย Call Me by Your Name สู่ ‘เกรโมนา’ ทางตอนเหนือของอิตาลี

Summer 1983
Somewhere in northern Italy

Call Me by Your Name เปิดเรื่องด้วยเวลาและสถานที่คร่าว ๆ แบบเหลือพื้นที่ให้ผู้ชมได้ค่อย ๆ ซึมซับบรรยากาศตอนเหนือของอิตาลีผ่านภาพยนตร์ไปทีละเล็กละน้อย – แสงแดดจ้าที่ฉาบลงบนผนังตึกเก่าสีสวย ทะเลสาบที่ใสราวกับกระจก เสียงนกร้องเจื้อยแจ้วคลอคู่ดนตรีคลาสสิค ไวน์ที่ไม่เคยขาดจากโต๊ะอาหาร และลูกพีชที่กำลังสุกงอมพร้อมให้เด็ดกินได้จากต้น (กับเจ้าแมลงวันที่คอยแอบเข้ามาดอมดม) แต่ละฉาก แต่ละตอน ล้วนสวยงามและเต็มไปด้วยชีวิต

ที่นี่มันที่ไหนกันนะ ? ผู้ชมหลายคนคงถามอยู่ในใจ

‘เกรมา’ คำใบ้แรกถูกเฉลยขึ้นมาบนโต๊ะอาหารหลังจาก ‘The usurper’ ตื่นจากการสลบไสล และเตรียมออกไปสำรวจเมืองต่างถิ่นที่เขาเพิ่งเดินทางมาถึง โดยมีหนุ่มน้อยเอลิโอ ลูกชายของเจ้าบ้านอาสานำทาง และเรื่องราวในฤดูร้อนของพวกเขาก็ได้เริ่มต้นขึ้น

Call Me by Your Name

เกรมา (Crema) เป็นหนึ่งในเมืองซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักของเรื่อง เช่นเดียวกับเมืองมอสคาซซาโน (Moscazzano) ที่ตั้งของบ้านตากอากาศของครอบครัวเอลิโอ และเมืองปันดิโน (Pandino) ที่ตั้งของอนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในฉากที่ทำให้ผู้ชมหลายคนเริ่มจะเขินจิกเบาะ แทบทุกสถานที่ที่ปรากฏในเรื่องล้วนอยู่ในจังหวัดเกรโมนา (Cremona) ในแคว้นลอมบาร์เดีย (Lombardia) ทางตอนเหนือของอิตาลี ที่ซึ่งลูกา กัวดาญิโนผู้กำกับของเรื่องใช้ชีวิตอาศัยอยู่จริง ๆ

[su_gmap width=”1600″ address=”cremona”][/su_gmap]

ไม่แน่ว่าเพราะเหตุนี้ กัวดาญิโนผู้ซึ่งเข้าใจบริบทพื้นที่ ตลอดจนรายละเอียดเล็ก ๆ ในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี จึงสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับสถานที่ได้สมจริงจนผู้ชมจมลงสู่ความรู้สึกที่หนังต้องการพาไปได้ไม่ยาก มากไปกว่านั้น กัวดาญิโนได้ทำให้ผู้ชมอยากลุกออกจากโรงหนัง แล้วเดินทางไปสัมผัสฤดูร้อนในตอนเหนือของอิตาลีเข้าเสียแล้ว

ว่าแต่..พื้นที่แถบเกรโมนามีอะไรน่าสนใจบ้าง ?

ปกติเวลากางแผนที่ตอนเหนือของอิตาลีเหนือออกมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงจะปักหมุดที่มิลาน, เวนิส, เจนัว, โบโลญญา, โมเดนา, โคโม, เบอร์กาโม แล้วลากนิ้ววืดผ่านเกรโมนาไปทั้ง ๆ ที่เกรโมนาอยู่ห่างจากมิลานเพียงชั่วโมงเศษ ๆ แต่สำหรับคนที่หลงใหลในดนตรีคลาสสิค เกรโมนาถือเป็นเมืองสำคัญที่ต้องไปเยือนสักครั้ง เพราะเกรโมนาเคยเป็นถิ่นของ ‘ตระกูลอมาตี’ หนึ่งในกระกูลช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงรุ่นแรกๆ นำโดย อันเดรีย อมาตี ผู้ถูกยกย่องว่าเป็นผู้สร้างไวโอลิน (รูปแบบปัจจุบัน) คันแรกของโลกขึ้นมา

ชื่อเสียงกว่า 500 ปีของวิชาทำไวโอลินเมืองเกรโมนาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible cultural heritage) โดยองค์การยูเนสโกในปี 2012

ช่างทำไวโอลินยอดฝีมือในอดีต อย่าง อันโตนิโอ สตราดิวารี และ ลูกหลานตระกูลกวาร์นีเอรีล้วนสืบทอดวิชามาจากตระกูลอมาตี และเป็นชาวเกรโมนา ปัจจุบันมูลค่าไวโอลินที่สตราดิวารี และกวาร์นีเอรี เดล เกซุสร้างไว้ กลายเป็นวัตถุล้ำค่าที่ถูกประมูลกันในราคาหลายร้อยล้านบาทถ้าใครอยากเห็นไวโอลินสตราดิวารีของจริง ก็สามารถไปชมกันได้ที่พิพิธภัณฑ์ไวโอลินเมืองเกรโมนา

เกรโมนายังเป็นดินแดนแห่งของหวาน ที่มีขนม ‘ตังเมฝรั่ง’ ตูร์โรเน่ (Torrone) หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่านูกัต (Nougat – ชื่อเดียวกับ Android 7 นั่นแหละ) เป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัด ด้วยความที่อยู่ไม่ไกลจากนครเวนิส ซึ่งในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าวัตถุดิบจากทั่วโลก วัฒนธรรมอาหารการกินในแถบนี้จึงมีการผสมผสานวัตถุดิบจากแดนไกลเข้ากับสูตรท้องถิ่นจนเป็นเอกลักษณ์

ในฉากหนึ่งของหนังเราจะเห็นคุณแม่บ้านมาฟาลด้า เตรียมอาหารที่เรียกว่า ตอร์เตลินี่ เกรมาสกิ (Tortelli cremaschi) พาสต้าตอร์เตลินี่ไส้หวานสูตรท้องถิ่นของเมืองเกรมา ที่หาทานได้เฉพาะที่เกรมาเท่านั้น

ว่ากันว่าสูตรของตอร์เตลินี่ เกรมาสกิ สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคที่เวนิสเป็นสาธารณรัฐ (ค.ศ. 697-ค.ศ. 1797) เพราะไส้ของเจ้าพาสต้าสูตรเมืองเกรมานั้น ประกอบไปด้วยวัตถุดิบจากตะวันออกไกล เช่น จันทน์เทศ เปลือกส้ม ผลไม้แช่อิ่ม ซึ่งในอดีตพ่อค้าชาวเวนิสเป็นเจ้าเดียวที่ผูกขาดการค้าวัตถุดิบเครื่องเทศกับโลกตะวันออก

[su_gmap width=”1600″ address=”lake garda”]Crocker Art Museum[/su_gmap]

นอกจากเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น ธรรมชาติในแถบนี้ของลอมบาร์เดียก็งดงามไม่แพ้ที่ไหน ๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบสูงใกล้เชิงเทือกเขาแอลป์ จึงเป็นดินแดนแห่งทะเลสาบที่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็ง ฉากทะเลสาบในเห็นในภาพยนตร์ คือทะเลสาบการ์ดา (Lake Garda) ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบยอดนิยมอย่างโคโม (Lake Como) และทะเลสาบอิเซโอ (Lake Iseo) ที่เพิ่งมีการสร้าง ‘ทางเดินสีทอง’ The Floating Piers เป็นโปรเจกต์ศิลปะเมื่อปี 2016 จนโด่งดังไปทั่วโลก

[su_gmap width=”1600″ address=”Cascate del Serio”][/su_gmap]

ส่วนน้ำตกเซริโอ (Cascate del Serio) ในฉากสำคัญท้ายเรื่อง ก็เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในอิตาลีของเมืองเบอร์กาโม ซึ่งแต่ละแห่งห่างกันเพียงชั่วโมงกว่า ๆ ถ้าใครอยากจะขับรถ road trip เที่ยวตามเอลิโอกับโอลิเวอร์ ก็ถือว่าค่อนข้างสะดวกทีเดียว

เรื่องราวความรักฤดูร้อนของ Call Me by Your Name โดยทั่วไปอาจดูไม่ต่างจากหนังแนว summer love หลาย ๆ เรื่อง ที่เริ่มต้นด้วยความรู้สึกเร่าร้อนและจบลงด้วยการจากลาเมื่อฤดูแห่งความรักสิ้นสุด แต่ด้วยการเล่าของของกัวดาญิโนเล่ากับภาพที่คุณสยมภู มุกดีถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงามไปเสียทุกฉากทุกตอน เราจึงไม่สามารถที่จะละสายตาไปจากหนังเรื่องนี้ได้เลย สมกับที่หลายสื่อยกให้ Call Me by Your Name เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของปี 2017 นี้

ใครที่สนใจชมภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name สามารถไปชมกันได้ที่ House Rama RCA ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมเป็นต้นไป ตรวจสอบรอบฉายได้ที่ www.houserama.com

An introvert Star Wars fan boy who's also the co-founder of Cultured Creatures.

Magazine made for you.